“ชุมชนยั่งยืน” วันนี้พามาติดตามเรื่องราวการจัดการขยะผ่านนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากความคิดเด็กอายุเพียง 20 ปี ที่ได้ชื่อว่า “เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์” นวัตกรรมสุดเจ๋งลำที่ 19 ของโลก ที่ล่าสุดจอดประจำการจัดการขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานในกิจกรรม ตลอดจนผู้บริหารภาคีเครือข่าย และผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor 019) ภายใต้โครงการ “ความร่วมมือการจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor)” ณ บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โลกทั้งโลกเชื่อมกันด้วยสายน้ำ แต่สายน้ำก็นำพาขยะไปได้ด้วย หากเราไม่จัดการขยะที่ต้นทาง สุดท้ายขยะก็จะกองอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางในมหาสมุทร สำหรับเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพในการเก็บขยะเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในอีก 2 ด้าน คือ
- แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน เพราะไม่มีทางที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน เช่นในครั้งนี้ก็เป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน
- เป็นเครื่องเตือนใจว่าขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย
กรุงเทพมหานครขอขอบคุณที่เลือกกรุงเทพฯ เป็นที่ติดตั้งของเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor 019) และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ กทม.จะร่วมมือกับทุกคนในการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นต่อไป
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณในความร่วมมือของทุกภาคส่วน และขอชื่นชมในความมุ่งมั่นทุ่มเทในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกจากแผ่นดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลลงสู่ทะเล รวมทั้งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกิจกรรมเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ลำที่ 19 ของโลก (Interceptor 019) ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในการบริหารจัดการขยะพลาสติกลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการแก้ไขปัญหามลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะเกิดความยั่งยืนได้
สำหรับโครงการความร่วมมือการจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรไทย และองค์กร The Ocean Cleanup ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ตลอดจนกรุงเทพมหานคร สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท อีโคมารีน จำกัด บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) โคคา-โคล่า และหน่วยงานภาคีเครือข่าย
โดยทำการติดตั้งเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์หรือเครื่อง Interceptor ในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนโครงการฯ ด้วยการดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดขยะประเภทอื่น ๆ อย่างเหมาะสมต่อไปในส่วนของเครื่อง Interceptor นั้น คิดค้นโดยองค์กร The Ocean Cleanup ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินการด้านการจัดการขยะในทะเลจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
การทำงานของ เครื่อง Interceptor จะประกอบด้วย
- แผงทุ่นลอยน้ำที่โยงติดกับโรงเก็บขยะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแพเรือที่ทอดสมออยู่ในแม่น้ำ
- ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์
- ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง
- ไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการควบคุม
- เป็นเครื่องดักขยะที่ช่วยลดปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล
- สามารถเก็บขยะได้วันละ 50,000 – 100,000 ชิ้น
- ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ในแม่น้ำ 15 สายของโลกที่จะมีนวัตกรรมดังกล่าวมาปฏิบัติการ
สำหรับการดูแลรักษาความสะอาด จัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่การปฏิบัติงานตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โดยจะจัดเก็บทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำและกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. เป็นประจำทุกวัน
อีกทั้งยังจัดกำลังเจ้าหน้าที่จัดเก็บวัชพืชและผักตบชวาเป็นพิเศษบริเวณสถานที่สำคัญ ๆ อาทิ หน้าวัดอรุณราชวราราม ท่าน้ำศิริราช เป็นต้น ซึ่งวัชพืชและขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปขึ้นที่ท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ปากคลองบางกอกน้อย (ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์) ใต้สะพานพุทธ (คลองโอ่งอ่าง) และใต้สะพานพระราม 9 (ฝั่งพระนคร) จากนั้นจะนำวัชพืชและขยะไปกำจัดที่สถานีกำจัดมูลฝอยหนองแขม