จากกรณีประเด็นดราม่าที่ นิสิตจุฬา ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญ พระเกี้ยว ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปีนี้ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย
ล่าสุด พ.อ.รศ.นพ.วิภู กำเหนิดดี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เชี่ยวชาญในการรักษาโรคปวดเรื้อรัง ระบุทางเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า สวัสดีครับ น้องๆ แพทย์ใช้ทุนที่จบจากที่นี่ ผมเตือนด้วยความหวังดีว่าอย่ามาสมัครเรียนกับผมนะครับ ไม่ชอบ
อย่างไรก็ตาม คณะผู้จัดงานเทศกาลงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 ชี้แจง เมื่อวันที่ 1 เมษายน ว่า พระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาคภูมิใจ สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้
โดยขบวนพระเกี้ยวในวันนี้ ถูกรายล้อมไปด้วยสัญลักษณ์ของศาสตร์แขนงต่าง ๆ ได้แก่
เข็มฉีดยาและขวดชมพู่อันเป็นตัวแทนแห่งวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
หนังสือเล่มหนา ตัวแทนของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ไม้ฉากเรขาคณิต ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
เกียร์ ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์
สเลทฟิล์ม ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ด้านนิเทศศาสตร์
ดัมเบล ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และ จานสี ตัวแทนแห่งศาสตร์ของศิลปะ
โดยสัญลักษณ์อันเป็นตัวแทนของศาสตร์แขนงต่าง ๆ เหล่านี้ที่อยู่รายล้อมพระเกี้ยวกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยรถกอล์ฟไฟฟ้าบนเส้นทางสู่อนาคต เปรียบเสมือนองค์ความรู้ที่อยู่คู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปรียบดั่งบัณฑิตที่จบไปพัฒนาวงการต่าง ๆ ในประเทศไทยและในระดับโลก โดยศาสตร์ต่าง ๆ เหล่านั้นที่ถูกพัฒนา และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ได้กลับมาโอบอุ้มให้มหาวิทยาลัยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรง
มากไปกว่านั้น ขบวนพระเกี้ยวในวันนี้ ยังแสดงถึงพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่าสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมกระตุ้นธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม เกิดผลงานวิจัยบูรณาการเชิงลึกและกว้าง เพิ่มนวัตกรรมหลักสูตรและการบูรณาการข้ามศาสตร์ นั่นเอง
ต่อมา เชื่อว่าทุกท่านจะสังเกตเห็น เส้นสายที่พริ้วไหว อ่อนช้อยแต่มั่นคง รายล้อมพระเกี้ยวอย่างงดงาม เปรียบเสมือนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของนิสิต บัณฑิต และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมแรงร่วมใจไปสู่การเป็นสถาบันเสาหลักที่อย่างยั่งยืน
มากไปกว่านั้น พระเกี้ยวในวันนี้ ยังถูกตกแต่งด้วยดอกไม้พลาสติก เป็นการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้ว กลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขบวนพระเกี้ยว อันเปรียบเสมือนความพร้อมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันที่เผยแพร่องค์ความรู้และบูรณาการข้ามศาสตร์ไปสู่อนาคต