November 22, 2024

เฉลยแล้ว! ปัญหาหน้าร้อน เปิดแอร์ยาว ๆ กับ เปิด ๆ ปิด ๆ แบบไหนกินไฟกว่ากัน

 

 

 

 

 

 

เฉลยแล้ว! ปัญหาหน้าร้อน เดือนเมษายน เปิดแอร์ยาว ๆ กับ เปิด ๆ ปิด ๆ แบบไหนกินไฟมากกว่ากัน เปิดแอร์แบบไหนเสี่ยงแอร์พัง แชร์วิธีประหยัดค่าไฟฟ้า

เมื่อดำเนินมาถึงเดือนเมษายน ก็เข้าสู่ช่วงฤดูกาลที่ชาวไทยต้องปาดเหงื่อกันยกใหญ่ ทั้งปาดเหงื่อจากอากาศร้อนอบอ้าว และปาดเหงื่อจากค่าไฟฟ้าที่พุ่งทะยานขึ้นสูง เนื่องจากหลายบ้านต้องใช้ตัวช่วยอย่าง เครื่องปรับอากาศ กันมากขึ้น

อากาศร้อนเช่นนี้ ใคร ๆ ก็อยากจะเปิดแอร์เย็นฉ่ำนอนพักผ่อนในช่วงหยุดยาว ซึ่งก็มักจะมีคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าร้อนว่า การเปิดแอร์ยาว ๆ กับ เปิด ๆ ปิด ๆ แบบไหนกินไฟมากกว่ากัน วันนี้ข่าวสดออนไลน์ มีเฉลย พร้อมแนะนำ เปิดแอร์แบบไหนเสี่ยงแอร์พัง และแชร์วิธีประหยัดค่าไฟฟ้า

ภาพประกอบ

  • การเปิดแอร์ยาว ๆ กับ เปิด ๆ ปิด ๆ แบบไหนกินไฟมากกว่ากัน

หลายคนมีความเชื่อว่า การเปิดแอร์ทั้งวันอาจทำให้กินไฟ จึงเกิดแนวทางใหม่ คือ เปิดไว้สักพัก แล้วปิด เพราะเชื่อว่าเป็นการประหยัดไฟ แต่ความจริงแล้ว การเปิด ๆ ปิด ๆ แอร์นั้น ไม่มีผลกับค่าไฟที่จะสูงขึ้น หากเทียบกับการเปิดแอร์ทิ้งไว้ทั้งวัน

  • เปิดแอร์แบบไหนเสี่ยงแอร์พัง

ยิ่งไปกว่านั้น การเปิด ๆ ปิด ๆ แอร์บ่อย ๆ อาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียได้ เนื่องจากการเปิด-ปิดบ่อย จะส่งผลเสียกับมอเตอร์แอร์ เพราะการเริ่มเปิด 1 ครั้ง เท่ากับการสตาร์ทมอเตอร์ใหม่ ทำให้เกิดแรงส่งที่สูงในทุกครั้งที่เริ่มเปิด และการที่มอเตอร์ส่งแรงสูงขึ้นบ่อย ๆ จะทำให้แอร์มีอายุการใช้งานที่สั้นลงนั้นเอง

ภาพประกอบ

  • วิธีประหยัดค่าไฟฟ้าในหน้าร้อน

ทาง กฟผ. เคยออกมาแนะนำ เทคนิคใช้แอร์แบบไหนช่วยประหยัดไฟที่สุด

1.เลือกแอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดไฟ

โดยสังเกตจากฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดไฟยิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากเบอร์ 5 ยิ่งดาวมากยิ่งประหยัดไฟมาก พร้อมทั้งดูแลอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ

2. เลือกแอร์ให้เหมาะกับขนาดห้อง

โดยพิจารณา​จากค่า BTU/hr (British Thermal Unit per hour) ซึ่งเป็นหน่วยสากลที่ใช้วัดขนาดความเย็นของแอร์ และมีความสำคัญ​อย่างยิ่งต่อการประหยัดพลังงาน คนส่วนใหญ่มักเลือกซื้อแอร์ขนาดใหญ่เพื่อให้ห้องเย็นเร็วขึ้นซึ่งเป็นการตัดสินใจไม่ถูกต้อง เพราะการใช้แอร์ที่มี BTU สูงเกินความจำเป็นกับขนาดห้องจะทำให้คอมเพรสเซอร์ตัดบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานของแอร์ลดน้อยลง และทำให้ภายในห้องมีความชื้นสูงส่งผลให้ผู้ใช้งานรู้สึกไม่สบายตัว รวมถึงมีราคาแพงเกินความจำเป็น​ แต่หาก​เลือก​แอร์ที่มี BTU ต่ำเกินไป การทำความเย็นจะช้า ไม่ได้ตามอุณหภูมิที่ตั้งไว้ รวมถึงคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักจนเกินไป ทำให้แอร์เสียเร็ว สิ้นเปลืองพลังงาน และค่าไฟแพงขึ้น

3.เลือกตำแหน่งติดตั้งแอร์และคอมเพรสเซอร์ให้เหมาะสม

โดยหลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์ในทิศตะวันตก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวจะโดนแสงแดดส่องในช่วงบ่ายทำให้ความร้อนสูง แอร์ต้องทำงานหนักมากขึ้น เช่นเดียวกับการติดตั้งคอมเพรสเซอร์ให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นพื้นปูน ดาดฟ้า มุมอับที่อากาศไม่ค่อยถ่ายเท หรือได้รับแสงแดดโดยตรง เพราะคอมเพรสเซอร์แอร์เป็นอุปกรณ์​ระบายความร้อนจึงควรอยู่ในที่ร่ม และยกสูงเหนือพื้น​ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดียิ่งขึ้นและประหยัดพลังงาน

4.เปิดแอร์ 26-27 องศา พร้อมพัดลม

การเปิดพัดลมช่วยไล่ความร้อนภายในห้องก่อนเปิดแอร์ โดยเพิ่มอุณหภูมิแอร์ไปที่ 26-27 องศาเซลเซียส จะช่วยลดอุณหภูมิลงได้ 2 องศา แต่ประหยัดไฟมากกว่าการเปิดแอร์ที่ 23-24 องศาเซลเซียส ช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึง 10%

5.ล้างแอร์ทุก 6 เดือน

เมื่อแอร์​ผ่านการใช้งานไปนาน ๆ แม้เปิดในอุณหภูมิที่ต่ำแล้ว แต่ผู้ใช้งานยังไม่รู้สึกเย็น เพราะภายในแอร์​มีฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกสะสมอยู่ ทำให้แอร์ต้องทำงานหนักและกินไฟมากขึ้น การล้างแอร์ทุก 6 เดือน จึงทำให้แอร์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปล่อยลมเย็นได้เหมือนเดิม ประหยัดค่าไฟได้มากถึง 10%

ภาพประกอบ

ที่มา : กฟผ

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *