เรียกว่าเป็นตอนที่ทำให้แฟนละครต้องเสียน้ำตา สำหรับ พรหมลิขิต EP.8 เมื่อตัวละคร “จอร์จ ฟอลคอน” หรือ “ยอร์ช ฟอลคอน” หรือลูกชายของ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” หรือ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ กับ “มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า” หรือ ท้าวทองกีบม้า ได้ถึงแก่ความตายระหว่างทำภารกิจสำคัญให้ “พระเจ้าท้ายสระ” กษัตริย์องค์ที่ 30 แห่งอยุธยา
อย่างไรก็ตาม ในบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า จอร์จ ฟอลคอน ไม่ได้มีจุดจบเช่นในละครแต่อย่างใด โดยในเอกสาร “Journal of the Siam Society” ใน “An Early British Merchant in Bangkok” โดย Moore, R. Adey ได้มีการเขียน
แผนผังตระกูลซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ โดยระบุว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิไชเยนทร์) แต่งงานกับหญิงคาทอลิกชาวญี่ปุ่น ซึ่งก็หมายถึงท้าวทองกีบม้า มีบุตรชายคาดว่าจะเป็น จอร์จ ฟอลคอน รับราชการในแผ่นดินสยาม ก่อนจะถูกส่งไปทำงานต่างแดนในฐานะทูตที่ ปอนดิเชอรี เมืองท่าของฝรั่งเศส ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย
โดยจอร์จได้แต่งงานกับหญิงชาวโปรตุเกส มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ จอห์น ฟอลคอน และลูกผู้หญิงอีกหลายคน ซึ่งเหลนของจอร์จ ฟอลคอน ก็คือ แองเจลิน่า หรือ ทรัพย์ เกิดในปี พ.ศ. 2348 (รัชกาลที่ 1) ซึ่งเอกสารดังกล่าว ระบุไว้ด้วยว่า จอร์จ ฟอลคอน มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข พร้อมหน้าพร้อมตาด้วยภรรยาและลูกๆ กระทั่งเสียชีวิต ค.ศ.1754 ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ขณะที่ทางด้าน “รอมแพง” เจ้าของบทประพันธ์ “พรหมลิขิต” ได้เผยอีกหลักฐานหนึ่งที่นำมาอ้างอิงการเสียชีวิตของ “จอร์จ ฟอลคอน” นั่นคือ หลักฐานชั้นต้น ซึ่งเป็นจดหมายของมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสในสยามที่เขียนใน ค.ศ.1711 ซึ่งยืนยันว่า จอร์จ ฟอลคอน เสียชีวิตตั้งแต่ ค.ศ.1709 ปีที่พระเจ้าท้ายสระขึ้นครองราชย์
โดย รอมแพง ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ตามหลักฐานชั้นต้นซึ่งเป็นจดหมายของมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสในสยามที่เขียนใน ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254 ยุคพระเจ้าท้ายสระ) ยืนยันว่า จอร์จ ฟอลคอน เสีย
ชีวิตตั้งแต่ ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) ปีที่พระเจ้าท้ายสระขึ้นครองราชย์ แล้วยังระบุว่าลุยซา เมียของจอร์จกับตองกีมาร์ส่งเรื่องขอเงินปันผลจากฝรั่งเศสด้วย และยังกล่าวถึงว่าลูกชายของจอร์จ ก็ชื่อคอนสแตนตินเหมือนสามีของตองกีมาร์ ในนิยายจอร์จก็จะมีลูกชายลูกสาวทำให้แม่มะลิต้องเข้มแข็งเลี้ยงหลาน
เพราะฉะนั้นอย่ามาเผาบ้านรอมแพงเลยเจ้าค่ะ ส่วนหลักฐานที่มีการกล่าวถึงว่าจอร์จอยู่จนแก่นั้น มามีในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งห่างจากระยะเวลาที่เกิดเรื่องเป็นร้อยปี น่าจะเป็นการบอกเล่าของคนรุ่นหลังที่อาจจะคลาดเคลื่อนได้
ปล.หลักฐานชั้นต้น คือหลักฐานที่ถูกจดบันทึกหรือเขียนขึ้นมาในยุคสมัยเดียวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือยุคสมัยใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะในละครหรือในนิยายหรือแม้แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ก็มิควรเชื่อ 100% นะเจ้าคะ”