November 22, 2024

มันไม่ใช่ชื่อนะ! ชาวพม่าที่เรียกขึ้นต้นว่า “หม่อง” หมายความว่าอะไร?

 

 

 

 

 

ผู้ที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า หรือ เมียนมา อยู่บ่อยๆ คงจะนึกสงสัยว่า ทำไมคนพม่าจึงมักมีชื่อขึ้นต้นว่า หม่อง, อู, โก, มะ, ด่อ ฯลฯ เช่น หม่องเอ, ด่ออองซานซูจี, อูวินอ่อง, มะติ่นวิน ฯลฯ

จริงๆแล้วคำเหล่านี้ บางครั้งไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชื่อคนคนนั้น แต่เป็นคำนำหน้าเพื่อบ่งบอกวัยหรือสถานภาพทางสังคมของบุคคลนั้น เหมือนกับคำว่า เด็กชาย, นาย, นาง, นางสาว หรือคำว่า พี่, น้อง, ลุง, ป้า, น้า, อา ของคนไทย

คำนำหน้าชื่อของชาวพม่ามีอะไรบ้าง และใช้กับใคร ในโอกาสไหน ลองมาเรียนรู้กัน
lเริ่มจากคำนำหน้าชื่อของผู้ชาย คำว่า หม่อง ที่เรามักพบเห็นบ่อยๆตามหน้าหนังสือพิมพ์ และเป็นคำที่คนไทยนิยมเรียกเพื่อสื่อความหมายถึงคนพม่า เช่น

รัฐบาลหม่อง ซึ่งหมายถึง รัฐบาลพม่า อันที่จริงแล้วคำว่า หม่อง ในภาษาพม่าจะใช้นำหน้าชื่อผู้ชายพม่าที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี เหมือนกับคำว่า เด็กชาย ในภาษาไทย แต่บางครั้งชาวพม่าก็อาจจะใช้คำว่า หม่อง มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อได้เช่นกัน ดังเช่น พลเอกหม่องเอ ผู้นำคนสำคัญของพม่า เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้คำว่า หม่อง ไม่ใช่คำนำหน้าเด็กผู้ชายแต่อย่างใด

ผู้ชายตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงประมาณ 30 ปี จะใช้คำนำหน้าหรือคำเรียกชื่อว่า โก ซึ่งหมายถึง นาย ในภาษาไทย ถึงแม้ว่าจะแต่งงานแล้วแต่ถ้าอายุยังไม่เกิน 30 ปี ก็ยังใช้คำว่า โก อยู่ เช่น โกหน่ายวิน หมายถึง นายหน่ายวิน นอกจากนี้ ผู้ใหญ่สามารถเรียกเด็กหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าว่า โก ก็ได้ ส่วนคนที่เราให้ความเคารพนับถือเป็นพี่ชายอาจเรียกว่า อาโก ก็ได้ ส่วนผู้ชายที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปจะใช้คำนำหน้าชื่อว่า อู หมายถึง ลุงหรืออา หรืออาจเรียกว่า อูเล เฉยๆ โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อก็ได้เช่นกัน

สำหรับคำนำหน้าชื่อผู้หญิงนั้นนิยมใช้คำว่า มะ หมายถึง ผู้หญิง หรือ เพศหญิง เป็นคำเรียกขานแบบทั่วๆไป จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว หรือเรียกชื่อผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า แต่ถ้าเป็นพี่สาวหรือผู้หญิงที่เราให้ความเคารพและสูงวัยกว่าจะเรียกว่า อามะ โดยจะไม่ใส่ชื่อตามหลังอีก
oiส่วนคำว่า ด่อ จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือมีคุณวุฒิในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป อาจจะเรียกว่า อาด่อ ซึ่งหมายถึง น้า หรือ ป้า ก็ได้ เช่น ด่ออองซานซูจี

นอกจากนี้ คนพม่ายังใช้คำว่า อาโพ้ หรือ โพ้โพ้ เพื่อใช้เรียก ปู่, ตา หรือชายสูงอายุ ส่วน ย่า, ยาย หรือหญิงสูงอายุ จะเรียกว่า อาพั้ว หรือ พั้วพั้ว

การเรียกชื่อของชาวพม่า โดยปกติจะไม่เรียกชื่ออย่างเดียวเพราะเป็นไม่สุภาพและไม่ให้เกียรติกัน ต้องมีคำนำหน้าด้วย เพราะฉะนั้น หากผู้อ่านได้เจอชาวพม่าหรือมีเพื่อนเป็นชาวพม่า ก็อย่าลืมนำคำเหล่านี้ไปใช้

(ข้อมูลนี้ “ซองคำถาม” ได้มาจากบทความเรื่อง “ชาวพม่าใช้คำนำหน้าชื่อกันอย่างไร” โดย ตะวันกับปั้นดาว ในสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 18 วันที่ 1 ต.ค. – 15 พ.ย. 47)

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *