ส่องรายได้-กำไร (ขาดทุน) ผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ 4 ราย ศึกแห่งการเบิร์นเงิน กว่าจะกำไรไม่ใช่เรื่องง่าย
ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกใจให้กับผู้ใช้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood อยู่ไม่น้อย เมื่อ SCBX แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป
- Robinhood เตรียมหยุดให้บริการ ใช้ได้ถึง 31 ก.ค. 67
ต้องยอมรับว่าในช่วงโควิด-19 ได้แจ้งเกิดให้กับธุรกิจ Food Delivery เป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกนักที่จะมีผู้เล่นทั้งในไทย และต่างประเทศ แห่เข้ามาเจาะตลาด เพื่อชิงเค้กที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท ในปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ดูเหมือนธุรกิจนี้จะไปได้สดใส แต่ในทางกลับกันธุรกิจ Food Delivery ก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่เผาเงินไม่น้อยเลยทีเดียว
Sanook Money ตรวจสอบข้อมูลจาก Creden Data ของ Grab, Line Man, Food Panda และ Robinhood จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ผ่านระบบวิเคราะห์ข้อมูลบริษัทครบวงจรของ Creden Data พบว่าทั้ง 4 แบรนด์ผู้ให้บริการด้านการขนส่งมีรายละเอียดดังนี้
บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2556 โดยมีรายชื่อนายวีร์ จารุนันท์ศิริ, นายรัสเซล โฮเวิร์ด โคเฮน และนายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ ปรากฎเป็นกรรมการบริษัท ดำเนินธุรกิจให้บริการและพัฒนาช่องทางการเรียกรถและส่งพัสดุผ่านแอพพลิเคชั่น ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 2,879,970,000 บาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
- ปี 2563 รายได้ 7,215,461,245 บาท ขาดทุน 284,280,850 บาท
- ปี 2564 รายได้ 11,375,559,973 บาท ขาดทุน 325,252,107 บาท
- ปี 2565 รายได้ 15,197,479,521 บาท กำไร 576,134,254 บาท
- ปี 2566 รายได้ 15,622,426,576 บาท กำไร 1,308,464,289 บาท
ปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 8,501,541,149 บาท หนี้สินรวม 8,831,280,605 บาท
บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2562 โดยมีรายชื่อนายยอด ชินสุภัคกุล และนายอินยัง ชุง เป็นกรรมการบริษัท ดำเนินธุรกิจกิจกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุนการขนส่ง ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 20,000,010 บาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
- ปี 2563 รายได้ 1,066,371,911 บาท ขาดทุน 1,114,666,254 บาท
- ปี 2564 รายได้ 4,140,036,366 บาท ขาดทุน 2,386,522,457 บาท
- ปี 2565 รายได้ 7,802,774,764 บาท ขาดทุน 2,730,849,262 บาท
- ปี 2566 รายได้ 11,634,419,745 บาท ขาดทุน 253,806,613 บาท
ปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 12,090,764,517 บาท หนี้สินรวม 18,693,856,361 บาท
บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2555 โดยมีนายจอห์น ฝาง, น.ส.พิชญา ทองทั่ว และน.ส.ดลิน คงเสรี เป็นกรรมการบริษัท ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทน นายหน้า เพื่อจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 204,000,000 บาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
- ปี 2563 รายได้ 4,375,128,919 บาท ขาดทุน 3,595,901,657 บาท
- ปี 2564 รายได้ 6,786,566,010 บาท ขาดทุน 4,721,599,978 บาท
- ปี 2565 รายได้ 3,628,053,048 บาท ขาดทุน 3,255,107,979 บาท
- ปี 2566 รายได้ 3,843,303,372 บาท ขาดทุน 522,486,848 บาท
ปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 1,587,608,698 บาท หนี้สินรวม 15,194,027,466 บาท
บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด
บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2563 โดยมีนายวิชิต สุรพงษ์ชัย, นายกานต์ ตระกูลฮุน, นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค, พันตำรวจเอกธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม, นายเชาวลิต เอกบุตร, นายวินัย ทองสอง, นายอนุชา เหล่าขวัญสถิตย์
และนายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เป็นกรรมการบริษัท ดำเนินธุรกิจการพัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 8,300,000,000 บาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
- ปี 2563 รายได้ 81,549 บาท ขาดทุน 87,829,231 บาท
- ปี 2564 รายได้ 15,788,999 บาท ขาดทุน 1,335,375,337 บาท
- ปี 2565 รายได้ 538,245,295 บาท ขาดทุน 1,986,837,776 บาท
- ปี 2566 รายได้ 724,446,267 บาท ขาดทุน 2,155,727,184 บาท
ปี 2566 มีสินทรัพย์รวม 3,532,402,082 บาท หนี้สินรวม 796,895,479 บาท
ดูเหมือนการขาดทุนจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery เพราะในช่วงแรกที่ต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่ไปกับการพัฒนาระบบ รวมถึงทำการตลาดผ่านโปรโมชั่นที่แข่งขันกันดุเดือด เพื่อที่จะสร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด แม้จะขาดทุนแต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ Data ข้อมูลของผู้ใช้บริการที่จะเอาไปต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า มูลค่าตลาด Food Delivery ในปี 2567 จะอยู่ที่ 86,100 ล้านบาท ลดลง 1.0% จากปี 2566 ที่มูลค่าการตลาดอยู่ที่ราว 87,000 ล้านบาท ถือเป็นเทรนด์ขาลง ปัจจัยมาจาก ผู้บริโภคหันไปทานอาหารที่ร้านมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่จะสั่ง Food Delivery ลดลง อีกทั้งต้นทุนวัตถุดิบ และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องปรับราคาอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย และการแข่งขันด้านโปรโมชั่นของผู้ให้บริการ Food Delivery ผ่อนลงจากก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการแอปฯ Food Delivery ปรับกลยุทธ์ทางการตลาดแบบเจาะจง มากกว่าการทำการตลาดแบบ Mass Marketing
แม้ว่าเทรนด์การสั่งอาหาร Food Delivery จะมีทิศทางชะลอตัวลง แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่องทางให้บริการนี้ก็ยังมีความจำเป็นสำหรับคนที่ใช้ชีวิตเร่งด่วน ไม่มีเวลา หรือ Work From Home อยู่ด้วย
ความท้าทายนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ให้กับผู้ให้บริการ Food Delivery ที่จะต้องงัดกลยุทธ์ เพื่อสร้างกำไรให้ได้ในอนาคต ยังไงเรื่องนี้ก็ต้องดูกันไปยาวๆ