October 3, 2024

ยายป่วยติดเตียง เสียชีวิต บ้านถูกตัดไฟ เครื่องออกซิเจนดับ พนง.บอกทำตามหน้าที่

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่ จ.นครพนม น.ส.นงลักษณ์ จันทร์ชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านนาขาม ต.วังยาง อ.วังยาง จ.นครพนม พร้อมญาติผู้เสียชีวิตได้ออกมาเรียกร้องผ่านสื่อ สะท้อนปัญหาไปยังผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรณีนางเกียน ลี้พล อายุ 68 ปี ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง แผลกดทับมานานหลายเดือน และอาการทรุดหนักจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเครื่องดูดเสมหะ และเตียงลม โดยนางเกียน อาศัยอยู่เพียงลำพัง ส่วนสามีเสียชีวิตเมื่อ 10 ปีก่อน ไม่มีลูก อาศัยน้องสาว และลูกหลาน คอยผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล

จนกระทั่งเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา มีพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งรับหน้าที่จากสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา อ.วังยาง จ.นครพนม มายืนยันยกหม้อตัดไฟฟ้าออกจากบ้านของนางเกียน โดยระบุว่า ค้างชำระค่าไฟฟ้ามาประมาณ 2 เดือนแล้ว ทางหลานสาวของผู้ตายก็ได้มีการอ้อนวอน โดยให้เหตุผลว่า ยายเจ้าของบ้านป่วยติดเตียง ไม่มีคนดูแล อาศัยอยู่ลำพัง จึงไม่มีการชำระค่าไฟ อีกทั้งเดิมไม่เคยเสียค่าไฟ เนื่องจากใช้ไฟฟ้าไม่เกินหน่วยตามที่รัฐบาลช่วยเหลือ แต่ช่วงหลัง ๆ ผู้ตายอาการทรุดหนักจึงต้องมีอุปกรณ์การแพทย์ อาทิ เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงเครื่องดูดเสมหะ และเตียงลม ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเหตุให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เมื่อทราบว่ามีบิลค้างชำระ รวมประมาณ 1,500 บาท ทางญาติก็พร้อมรับผิดชอบ จะเร่งดำเนินการจ่ายค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระให้ แต่ขอร้องว่าอย่าตัดไฟ เพราะเกรงจะกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย แต่พนักงานตัดไฟไม่ยอมฟังเหตุผล อ้างทำตามหน้าที่ จึงดำเนินการยกหม้อตัดไฟฟ้า

อุปกรณ์การแพทย์ทั้งหมดจึงหยุดทำงาน หนักสุด คือ เครื่องผลิตออกซิเจนไม่ทำงาน ทำให้นางเกียนอาการทรุดและเสียชีวิต ทั้งที่ญาติพยายามเร่งไปชำระค่าไฟ และมีเจ้าหน้าที่มาติดตั้งหม้อไฟคืน ในช่วงเวลา แค่ประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจเองได้จนเป็นผลให้เสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ ภายหลังถูกตัดยกหม้อไฟ ยายกรม (นามสมมติ) อายุ 73 ปี พี่สาวผู้ตาย อาศัยในหมู่บ้านเดียวกัน ได้นำเงินไปชำระตามใบแจ้งบิล โดยให้หลานสาวขี่รถจักรยานยนต์ ซ้อนท้ายไปชำระที่สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขา อ.วังยาง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 10 กิโลเมตร โดยทางญาติ รวมถึงหลานสาว ยังคาใจ ถามหาคุณธรรม ทั้งที่มีการพูดคุยแจ้งเหตุผลที่ค้างชำระค่าไฟ แต่ไม่ยอมรับฟัง มองข้ามชีวิตคน พร้อมระบุว่า หากไม่เจอญาติพี่น้องตัวเองไม่รู้สึก พร้อมเรียกร้องให้ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ออกมาชี้แจง และแสดงความรับผิดชอบ เชื่อว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วย ถึงแม้จะป่วยติดเตียง แต่ยังดีได้มีโอกาสพูดคุย ใช้ชีวิตกับญาติพี่น้อง ไม่ควรจะมาเสียชีวิตคาใจแบบนี้ แทนที่จะได้ใช้เงินหมื่นจากรัฐบาล ที่เพิ่งได้รับไม่เกินวัน แต่ยังดีได้นำมาจ่ายค่าไฟ และซื้ออาหาร ก่อนเสียชีวิต

น.ส.สุธารินี (สงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี หลานสาวผู้ตาย เปิดเผยว่า ปกติลูกหลานทุกคนจะทำงาน พอเลิกงานจะคอยมาดูแลยายเกียน และมีคนสลับสับเปลี่ยนกันมานอนดูแล ในช่วง 1- 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเครื่องดูดเสมหะ แต่ยังพูดคุยรู้เรื่อง มีสติดี รับประทานอาหารได้

น.ส.สุธารินี กล่าวว่า วันเกิดเหตุมีพนักงานอ้างว่าเป็นบริษัทเอกชน ทำหน้าที่ตัดไฟที่เกินกำหนดชำระ มาทำการยกหม้อไฟหน้าบ้านยาย ตนจึงไปสอบถามขอร้อง ให้เหตุผล และจะไปชำระทันที เพราะไม่มีคนดูแลยาย แต่ถูกปฏิเสธไม่ฟังเหตุผผล พร้อมยกหม้อไฟไปต่อหน้า จึงประสานหาทางช่วยเหลือ นำเงินไปชำระ แต่ระยะทางไกลประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลานับชั่วโมง จึงมีเจ้าหน้าที่กลับมาติดตั้งหม้อไฟ แต่อาการยายทรุด และเสียชีวิตลงในช่วงกลางดึก ถึงแม้ตนไม่สามารถยืนยันได้ว่า เสียชีวิตเพราะเครื่องผลิตออกซิเจนไม่ทำงาน แต่ยังคาใจถึงคุณธรรมในการทำงานบริการ เชื่อว่าหากไม่ตัดไฟยายยังใช้ชีวิตต่อได้ หากจะอ้างไม่มีข้อมูลผู้ป่วย ยืนยันว่าเมื่อหลายเดือนก่อน เคยมาตัดหม้อไฟ และมีการอ้อนวอนขอให้แจ้งก่อนการตัดไฟ เพราะไม่มีคนดูแล อยู่คนเดียวลำพัง ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องร้ายซ้ำอีก

ด้าน น.ส.นงลักษณ์ ในฐานะมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปดูแลยายทุกสัปดาห์ ในส่วนที่ญาติไม่สามารถทำเองได้ เพราะบางวันต้องล้างแผลกดทับ ยอมรับยังรับไม่ได้ พอรู้ว่า มีเจ้าหน้าที่มายกหม้อตัดไฟ ทำให้ยายอาการทรุดและเสียชีวิต ถามหาคุณธรรมคนทำงานบริการประชาชน ทั้งที่รู้คนจะตาย แต่ยังไม่ฟังเหตุผลทั้งที่ญาติอ้อนวอนขอความเมตตา ตนในฐานะพยาบาล ยังไม่เลือกที่จยะช่วยเหลือชีวิตคน จะเป็นคนผิดคนถูกจะต้องรักษาทุกคน เมื่อเจ็บป่วยเพื่อให้รอดชีวิต แต่หน่วยงานไฟฟ้า อ้างทำตามหน้าที่ ทั้งรู้ว่าจะเกิดผลกระทบกับผู้ป่วย ฝากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทบทวนหาทางแก้ไข

ได้ยินเรื่องนี้ทางสื่อบ่อยมาก อยากให้แก้ไขจริงจังเสียที น่าจะมีทางออกที่ดี เชื่อว่ามีมาตรการแก้ไข ถามว่าเกิดความสูญเสียใครรับผิดชอบ น.ส.นงลักษณ์ กล่าว

มีรายงานเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับปัญหาการยกหม้อแปลงตัดไฟ ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อน ให้กับประชาชนในพื้นที่ มีการเรียกร้องผ่านสื่อประจำ เพื่อให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีมาตรการดูแลช่วยเหลือ พิจารณาเป็นรายบุคคล ตามความเหมาะสม เพราะบางรายมีความจำเป็น โดยไม่มีเจตนาเบี้ยวค่าไฟ แต่บางครั้งมีปัญหาเกี่ยวกับระบบจ่ายค่าไฟผ่านแอพพลิเคชั่น รวมถึงบิลค่าไฟไม่ถึงผู้ใช้ไฟ จึงชำระล่าช้า แต่ผู้รับจ้างเอกชน ไม่สนใจฟังเหตุผล อ้างทำหน้าที่ เพราะมีค่าตอบแทนในการตัดยกหม้อไฟ ถึงรู้ว่าเกินกำหนดจ่ายเพียงแค่ชั่วโมงเดียว ยังตัดไฟเพราะได้ค่าตอบแทน ทั้งที่ชาวบ้านยอมจ่ายค่าปรับตามระเบียบ แต่ยังยืนยันที่จะยกหม้อไฟฟ้า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อธุรกิจการค้า รวมถึงคนที่เจ็บป่วย ที่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ช่วยเหลือตามชุมชนหมู่บ้าน

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *