จากกรณี ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (BANK) ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 10 แห่ง ประกาศผลประกอบการออกมาโดยรวมมีกำไรสุทธิ 186,559 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่มีกำไรสุทธิ 163,745 ล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ทำกำไรสุทธิสูงสุดที่ 33,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.34% YOY
ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ทำกำไรเพิ่มขึ้นมาก งวด 9 เดือนกำไร 32,773 ล้านบาท โตถึง 50.78% YOY โดยนายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แรงหนุนจาก NIM ทำให้กำไรแบงก์ปี 2566 คาดจะอยู่ที่ 202,183 ล้านบาท เติบโต 18.5% จากปีก่อนหน้า ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจธนาคาร โดยแบงก์เคยทำกำไรสูงสุดช่วงปี 2557 ที่ระดับ 1.9 แสนล้านบาท (ประเมินจากหุ้นแบงก์ 8 แห่ง) นั้น
ล่าสุด วันที่ 7 ม.ค. 2567 นายสรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หนุ่มเมืองจันท์ ระบุว่า แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์ เห็นพาดหัวข่าวของ ประชาชาติธุรกิจ วันนี้แล้วอึ้งเลยครับ ผมไม่รู้ว่า แบงก์ชาติ จะรู้สึกตะหงิดอะไรในใจบ้างไหม
1. ถ้าเศรษฐกิจดี ประชาชนมีกำลังซื้อ พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ทุกธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น
ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน หัวใจ สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกายหรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง
2. แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก
แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี ธุรกิจเอสเอ็มอี 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว
3.คนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50%
แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70% เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนสูงขึ้นในขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม แบงก์ไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย
4. ลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรเพิ่มขึ้นก็ถือว่าผิดปกติแล้ว
เหมือนร่างกายอ่อนแอ แต่หัวใจกลับแข็งแรง พอมาดูเหตุผลว่าทำไมแบงก์ไทยทำกำไรได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ตั้งแบงก์มา ยิ่งน่าตกใจ รู้ไหมครับว่ากำไรที่สูงลิ่วของแบงก์มาจากอะไร การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ครับ หมายความว่าในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แบงก์ก็ขยับส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ของแบงก์ไทยเพิ่มขึ้น
จากเดิมจ่ายดอกเบี้ยคนฝากเงินน้อย ๆ แต่ให้กู้แพง ๆ ทำกำไรแบบง่าย ๆ นักวิเคราะห์บอกว่าแบงก์ที่กำไรจาก ส่วนต่าง นี้มากที่สุด คือ แบงก์กรุงเทพ อย่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปีของแบงก์กรุงเทพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับแบงก์ใหญ่ทั้งหมด ตอนนี้อยู่ที่ 1.6% ในขณะที่แบงก์อื่นขยับขึ้นเป็น 2-2.2 % แล้ว ที่มีคนกล่าวหาว่าแบงก์เป็น เสือนอนกิน จึงไม่ใช่คำกล่าวหา
5. ประเด็นสำคัญ ก็คือ หน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่รู้สึกว่าผิดปกติบ้างหรือครับ
เมื่อ GDP ที่เป็นดัชนีบอกว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าไร แบงก์ชาติบอกว่าปี 2566 ประมาณ 2.4% แต่ธุรกิจธนาคารที่คุมระบบการเงินของประเทศเติบโตสูงถึง 18.5% หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศถึงเกือบ 8 เท่าตัว
ความผิดเพี้ยนแบบนี้รัฐบาลและแบงก์ชาติไม่รู้สึก เอ๊ะ อะไรบ้างหรือครับ แบงก์ชาติ นั้นเหมือนคุณหมอที่ดูแลเรื่อง หัวใจ เมื่อเห็นการทำงานของ หัวใจ เต้นผิดปกติแบบนี้ จะไม่คิดทำอะไรบ้างเลยหรือ หรือเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติของเศรษฐกิจประเทศ ที่แบงก์ชาติบอกว่า กำลังฟื้นตัว
6. บทความชิ้นนี้ถ้าใครอ่านแล้ว เห็นด้วย ท่านสามารถกดรูป หัวใจ หรือชมว่า น่ารักมากค่ะ ได้ด้วยความสบายใจ ผู้เขียนยืนยันว่าไม่คิดเป็นอื่นครับ