หญิง นับถือนิกายพยานพระยะโฮวา ยื่นฟ้องโรงพยาบาล หลังเข้ารับการผ่าตัด โดนถ่ายเลือดโดยไม่ยินยอม ทั้งที่เขียนหนังสือระบุไว้แล้ว อ้างละเมิดหลักศาสนา
การช่วยชีวิตคน เป็นสิ่งที่หลายคนโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องทำให้สำเร็จ หากทำได้ก็ถือว่าเป็นการทำคุณงามความดี และคนที่ได้รับการช่วยเหลือก็คงรู้สึกขอบคุณ
แต่คงไม่ใช่สำหรับ โรซา เอเดลมิรา ปินโด มุลลา หญิงวัย 53 ปี ชาวเอกวาดอร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศสเปนที่อ้างว่าตกเป็นเหยื่อของ “ความเป็นพ่อทางการแพทย์” (medical paternalism)
ตามแนวคิดนี้เชื่อว่าผู้ป่วยจะต้องยอมรับและขอบคุณที่แพทย์ตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดให้ ตามรูปแบบนี้แพทย์อาจเริ่มการรักษาให้ผู้ป่วยไปแล้วจึงค่อยแจ้งให้ทราบภายหลัง
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2018 หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่า โรซา ต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งกระบวนการนี้ โรซา ต้องกรอกเอกสาร 3 ฉบับด้วยกัน ได้แก่ คำสั่งล่วงหน้า หนังสือมอบอำนาจระยะยาว และแบบฟอร์มแสดงความยินยอม
เธออ้างได้กรอกเอกสารระบุว่า เธอนับถือนิกายพยานพระยะโฮวา และด้วยข้อจำกัดทางศาสนา เธอปฏิเสธที่จะรับการถ่ายเลือดใด ๆ แม้จะแลกด้วยชีวิตของเธอเองก็ตาม
แต่ระหว่างการผ่าตัด โรซา เกิดอาการเสียเลือดมากเกินไป แพทย์จึงทำการถ่ายเลือดโดยที่เธอไม่ยินยอม นับแต่นั้น โรซา จึงเพียรพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง
ในเดือนมีนาคม 2020 โรซา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (ECHR) ซึ่งตัดสินว่าด้วยการละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนใน 46 ประเทศที่ให้สัตยาบัน
ก่อนหน้านี้เธอเคยเรียกร้องความยุติธรรมในศาลยุติธรรมในกรุงมาดริด และศาลรัฐธรรมนูญของสเปน แต่คดีของเธอถูกยกฟ้องทั้งหมด
โรซา อ้างว่าได้ชี้แจงอย่างชัดเจนทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าเธอต่อต้านการถ่ายเลือดอันเนื่องมาจากเหตุผลทางศาสนา
ในทางกลับกัน โรงพยาบาลอ้างว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของ โรซา วิสัญญีแพทย์ได้ติดต่อผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อขอคำแนะนำ และพวกเขาก็อนุญาตให้มีการแทรกแซงทางการแพทย์หรือการผ่าตัดที่จำเป็นเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
“สถานการณ์ต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็ว” นิโคลัส มาร์ติเนซ ตัวแทนของรัฐบาลสเปนยืนกราน แต่ทนายของโรซาอ้างว่าเธอเป็นเหยื่อ
คดีนี้กลายเป็นข่าวดังและจุดประกายความขัดแย้งมานานหลายปี เนื่องจากมีความซับซ้อน บางคนเชื่อว่าแพทย์ทำถูกแล้ว ในขณะที่บางคนคิดว่าความปรารถนาของบุคคลใดก็ตาม ไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม ควรได้รับการเคารพตราบใดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
ในปี 2024 นี้ คดีนี้ก็ยังเข้ารับการพิจารณาอยู่ และคาดว่าจะมีการตัดสินโทษในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ที่มา: odditycentral