September 20, 2024

เบนซ์ เรซซิ่ง ยื่นขอค่าชดเชย หลังติดคุกเกินเกือบปี ลั่นถึงได้ไม่เยอะ แต่ไม่อยากเสียสิทธิ

เบนซ์ เรซซิ่ง ยื่นขอค่าชดเชย หลังติดคุกเกินเกือบปี ลั่นถึงได้ไม่เยอะ แต่ไม่อยากเสียสิทธิ เผยเกณฑ์การเยียวยา ยึดตามค่าแรงขั้นต่ำ

วันที่ 18 ม.ค. 67 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือเบนซ์ เรซซิ่ง เข้าพบ นายกองตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำรองนายกรัฐมนตรี เพื่อทำเรื่องขอเงินชดเชยเยียวยากรณีศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดีของตนเองในข้อหาสมคบกันค้ายาเสพติด แต่ได้รับโทษจำคุกในข้อหาฟอกเงินมาแล้วกว่า 4 ปี เกินจากอัตราโทษ 3 ปี 4 เดือน

นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า นายอัครกิตติ์ ถูกตั้งข้อหาสมคบกันค้ายาเสพติดและสบคบกันฟอกเงิน โดยศาลฎีกาได้ยกฟ้องคดียาเสพติด ส่วนคดีฟอกเงิน ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 3 ปี 4 เดือน แต่ระหว่างนั้นนายนายอัครกิตติ์ ถูกจำคุกไป 4 ปี 10 วัน เกินกว่ากำหนดโทษ 256 วัน

ซึ่งกระทบสิทธิ์ของนายอัครกิตติ์ จึงมาร้องเรียนกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล พร้อมนำคำพิพากษาศาลทั้ง 3 ชั้น เพื่อให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ประกอบการพิจารณาเงินชดเชยเยียวยา

นายกองตรีธนกฤต กล่าวว่า การใช้สิทธิเยียวยาดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามกฎหมาย โดยจะต้องมาใช้สิทธิ์ภายใน 1 ปีหลังจากพ้นโทษ ซึ่งส่วนกลางจะใช้คณะกรรมการจากกรมคุ้มครองสิทธิ์ ขณะที่ต่างจังหวัด จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รับผิดชอบ

โดยเกณฑ์การชดเชยเยียวยาจะยึดตามค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดกับสถานที่ผู้ต้องขังถูกจองจำแต่ละแห่งซึ่งจะไม่เท่ากัน และจะไม่มากไปกว่า 350 บาท ก่อนนำมาคำนวณกับจำนวนวันที่ถูกขังเกิน เช่นกรณี นายอัครกิตติ์ มีภูมิลำเนาและถูกขังในกรุงเทพฯ ก็จะยึดตามเกณฑ์ดังกล่าว โดยนับตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งมา ยังไม่เคยรับเรื่องร้องเรียนจากจำเลยที่มาขอใช้สิทธิ์ในลักษณะนี้

นายกองตรีธนกฤต กล่าวอีกว่า นายอัครกิตติ์ ยังขอเสนอให้กรมราชทัณฑ์แยกการกักขังระหว่างผู้ต้องขังคดีเด็ดขาดกับผู้ต้องขังที่อยู่ในชั้นการพิจารณาคดีหรือยังอยู่ในขั้นตอนการฝากขัง รวมถึงแยกจากนักโทษคดีทางการเมือง ที่ถูกขังรวมกับนักโทษคดีอาญาทั่วไป ซึ่งข้อเสนอนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาการปรับปรุง

ด้าน นายอัครกิตติ์ กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนเงินชดเชยที่ตนเรียกร้องไปจะไม่ได้เยอะ แต่ต้องการมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง และอยากให้ผู้ต้องขังคนอื่นที่มีสถานะเช่นเดียวกันมาใช้สิทธิ์นี้ เพราะเจ้าตัวอาจไม่ทราบว่ามีสิทธิ์กระทำแบบนี้ได้ จึงอยากเป็นตัวแทนให้ผู้ต้องขังที่ไม่มีโอกาสได้มาพูดแบบนี้

สำหรับประสบการณ์ที่พบในเรือนจำ ตนเสนอให้แยกการกักขังระหว่างผู้ต้องขังเด็ดขาดและผู้ต้องขังที่ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินออกจากกัน เพราะการปฏิบัติต่างๆ เช่นการเตรียมหลักฐานต่อสู้คดี การเยี่ยมญาติ หรือการพบทนายความนั้น ไม่ได้รับการแบ่งแยกตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิ์ผู้ต้องขังที่คำพิพากษายังไม่สิ้นสุด หากท้ายสุดศาลยกฟ้องและมาใช้สิทธิ์อย่างตน ก็เทียบไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะหน้าที่การงาน ชีวิตและครอบครัว

นายอัครกิตติ์ กล่าวว่า ข้อเสนอตนนั้นอาจจะไม่ต้องสร้างเรือนจำใหม่ แต่ใช้เรือนจำที่มีอยู่แล้ว แยกแดนต่าง ๆ ออกมา ยกตัวอย่างจำนวนห้องน้ำนั้น จะมีห้องเดียวต่อจำนวนนักโทษ 50 คน ดังนั้นหากแยกประเภทนักโทษดังที่ตนเสนอได้ อาจช่วยลดความแออัดภายในเรือนจำแต่ละแดนได้

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *