November 22, 2024

เตรียมโบกมือลาหน้าหนาว กรมอุตุฯ คาดไทยเข้าสู่ฤดูร้อน อุณภูมิพุ่งสูงปรี๊ด 44.5 องศา

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2567 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 โดยฤดูร้อนของ

ประเทศไทยปีนี้ คาดว่า จะเริ่มประมาณต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะช้ากว่าปกติประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงที่สุด 43.0 – 44.5 องศาเซลเซียส ส่วนมากช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม แต่จะมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้

สำหรับอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 36.0-37.0 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 35.4 องศาเซลเซียส) และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา (ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส) ส่วนปริมาณฝนรวมเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 30

อนึ่ง ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มักจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวก่อให้

เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรได้ ส่วนปริมาณฝนที่ตกนั้น มีไม่เพียงพอกับความต้องการในหลายพื้นที่ ทั้งด้าน

อุปโภคและบริโภค รวมทั้งด้านเกษตรกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ดังนั้นประชาชนจึงควรใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเตรียมการป้องกันสภาวะดังกล่าว

บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม จะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่ภาค

เหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จะมีกำลังอ่อน

ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือ

ลมใต้พัดพาความชื้นจากทะเลอ่าวไทยเข้าปกคลุม ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยอุณหภูมิสูงสุด 43.0 – 44.5 องศา

เซลเซียส และจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในบางช่วง โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลง

ส่วนในช่วงกลางและปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบทั่วไป กับมีฝนฟ้าคะนอง

เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ภาคใต้ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนเมษายน ลมตะวันออกหรือลมตะวันออกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดช่วง ทำให้มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 – 30 ของพื้นที่ คลื่นลมทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร จากนั้นจนถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้เฝั่งตะวันตก

จะมีฝนตกร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง คลื่นลมในทะเลอันดามันจะมีกาลังแรงขึ้น บางช่วงจะมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้

ข้อควรระวัง อัคคีภัยและไฟป่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ ลักษณะอากาศจะเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย ประชาชนจึงควรต้องระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ด้วย

อากาศร้อนจัด ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก จึงขอให้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานานๆ และหมั่นตรวจสอบดูแลคนในครอบครัวให้เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

เรียบเรียง มุมข่าว

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *