หากอยู่นอกระบบสุริยะจะดูดวงอย่างไร? เพจอวกาศดังตั้งคำถาม ชี้หลักโหราศาสตร์ มักอ้างอิงดาวจากระบบสุริยะ และหากมนุษย์ต้องย้ายที่อยู่ หรือดวงดาวดับไป ตำราดูดวงจะเป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจที่ให้ความรู้ด้านอวกาศ และดาราศาสตร์ชื่อดังอย่าง Spaceth.co ได้ตั้งคำถามถึงโหราศาสตร์ และการดูดวง โดยถามว่า เราจะดูดวงอย่างไรหากไม่อยู่ในระบบสุริยะจักรวาล
ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าการดูดวง มักจะอ้างอิงดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ แต่หากในอนาคตมนุษย์ต้องเดินทางย้ายถิ่นฐานไประบบสุริยะอื่น จะทำอย่างไร
โดยระบุว่า “เราจะดูดวงอย่างไร หากไม่ได้อยู่ในระบบสุริยะจักรวาล และมองจากมุมมองของโลก ?
ก่อนอื่น ต้องออกตัวก่อนว่านี่ไม่ใช่บทความกวนตีนแต่อย่างใด แต่ต้องการที่จะช่วยสร้างตำราโหราศาสตร์รุ่นใหม่ที่สามารถใช้งานได้ในอนาคตหากมนุษย์ต้องเดินทางย้ายถิ่นฐานไปอาศัยในระบบสุริยะอื่น นอกจากนี้การเห็นดวงดาวหรือกลุ่มดาวก็ขึ้นกับมุมของโลก หากย้ายไปอยู่ที่อื่นอาจไม่เห็นกลุ่มดาวเลยก็ได้ แล้วหากเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไร
เมื่อพูดถึงการดูดวง หรือโหราศาสตร์ เรามักจะสังเกตเห็นการพูดถึงดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ เช่น พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี ซึ่งเราอาจคุ้นเคยกันดี เราเรียกว่าดาวนพเคราะห์ และดาวอีกกลุ่มที่มักจะพูดถึงกันก็คือกลุ่มดาวจักรราศี เช่น ราศีสิงห์ (Leo) ราศรีธนู (Sagittarius) ไล่ไปจนครบ
ซึ่งพอตำราโหราศาสตร์เป็นแบบนี้ เราจะเห็นว่า นี่เป็นวิธีการมองโดยอาศัยมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งเราจะเห็นดาวนพเคราะห์เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วในหลักวัน เนื่องจากอยู่ใกล้โลก และดาวจักรราศีที่เคลื่อนที่ในหลักเดือนเพราะอยู่ไกลโลกมากกว่า
การที่คุณเกิดในตำแหน่งราศีอะไร คือการที่ดวงอาทิตย์อยู่ ณ จุดนั้นบนท้องฟ้าของปี จึงเป็นเหตุผลว่า ถ้าคุณเกิดในช่วงราศีธนู คุณจะไม่ได้เห็นกลุ่มดาว Sagittarius แน่ ๆ เพราะมันอยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์นั่นเอง
พอเป็นแบบนี้แล้ว เราจะพบปัญหาสองข้อก็คือ
1. หากมนุษย์ไม่ได้อยู่บนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล เราจะดูดาวนพเคราะห์อย่างไร และอีกคำถามคือ ถ้ามีการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่เราจะอัพ Patch ตำราอย่างไร หรือถ้า International Astronomical Union (IAU) มีมติตัดดาวอังคารออกจากการเป็นเคราะห์ในระบบสุริยะ ตำราโหราศาสตร์นพเคราะห์จะบั๊กหรือไม่
2. แท้จริงแล้ว กลุ่มดาวที่เราเห็นจากมุมมองบนโลก เป็นการประกอบสร้างภาพจากกลุ่มดาวที่แท้จริงแล้วอยู่ห่างไกลออกไป เหมือนการเกิดสุริยุปราคา ไม่ได้แปลว่าดวงจันทร์ไปชนดวงอาทิตย์ แต่เพราะมันเคลื่อนที่มาใกล้กันจากมุมของเรา (เรียกสิ่งนี้ว่า Parallax) นั่นหมายความว่าหากมุมมองเปลี่ยนไป กลุ่มดาวนั้นจะพังหมดเลย และดูไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะดาวที่เรามองเห็นว่าอยู่ใกล้กันจากมุมมองของโลก แท้จริงแล้วนั้นอาจอยู่ห่างกันหลายร้อยปีแสง
ดังนั้น ถ้าตำราดูดาวสามารถบอกชีวิตของคนบนโลกได้ เราอาจต้องหาคำอธิบายว่า
– แล้วถ้ามนุษย์เดินทางไปยังจุดอื่นในทางช้างเผือก และอาศัยอยู่ในระบบสุริยะอื่น เราจะยังได้รับอิทธิพลจากตำราโหราศาสตร์อยู่หรือไม่ ?
– ถ้าได้ เพราะอะไร ? เพราะเราเกิดที่นี่หรือเปล่า จึงเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แปลว่าต่อให้เราย้ายดาว ชะตาชีวิต ปีชงของเรา ก็จะผูกติดกับระบบสุริยะเดิม ?
– และถ้าไม่ คำถามต่อไปก็คือ แล้วดาวนพเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่เราไปอยู่จะส่งผลกับเราได้หรือไม่ และเราจำเป็นต้องสร้างกลุ่มดาวจักราศีใหม่หรือไม่ เพราะไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน
แล้วถ้าเราต้องเขียนตำราโหราศาสตร์จากดาวนพเคราะห์ในระบบสุริยะใหม่ และกลุ่มดาวจักราศี ที่ถูกนิยามขึ้นใหม่โดย IAU หรือ International Astrological Union เราจะเลือกใช้วิธีการสังเกตใหม่ตั้งแต่ต้น (เรียกว่า Empiricism) หรือเอาตำราที่มีอยู่แล้วในระบบสุริยะจักรวาลของเรามาอธิบายถึงความเชื่อมโยงได้เลย (เรียกว่า Rationalism)
หากเราสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ไทยอาจเป็นประเทศที่สามารถก่อตั้ง International Astrological Union ได้ และจะมีบทบาทอย่างมากเมื่อมนุษย์กลายเป็นสิ่งมีชีวิตและต้องเดินทางระหว่างดวงดาว (Interstellar Travel)
และเราอาจนำองค์ความรู้นี้บันทึกลงใน DNA Storage เพื่อให้ความรู้นี้ยังคงอยู่ต่อไป หรือหากเราพบเจอเอเลียน เราอาจส่งต่อองค์ความรู้นี้ให้พวกเขาได้ด้วยเช่นกัน คล้าย ๆ กับโครงการ Golden Record ของ Carl Sagan
และแถมให้อีกข้อว่า ตำราโหราศาสตร์นั้นควรมีการอ้างอิง Timeline และ Timeframe ด้วยเช่นกัน เนื่องจากดาวบนท้องฟ้านั้นก็ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ แค่มนุษย์ถือกำเนิดบนโลกขึ้นมาแค่หลักไม่กี่หมื่นปี เราจึงอาจไม่ได้เห็นการเคลื่อนที่นั้น หากตำราโหราศาสตร์ไม่ได้คำนึงถึง การเคลื่อนที่ในหลักเวลาดังกล่าว เมื่อดาราจักรทางช้างเผือกของเรา ผนวกรวมกับดาราจักรแอนโดรเมดา ตำราโหราศาสตร์ของเราอาจบั๊กครั้งใหญ่ก็ได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง ดูดวง ,ดาราศาสตร์ ,โหราศาสตร์ ,สุริยะจักรวาล