November 22, 2024

เปิดผลสอบเบื้องต้น สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ช็อกเครื่องดิ่งลง 54 เมตร ใน 4.6 วินาที

 

 

 

 

 

 

ผลสอบสวนเบื้องต้น เครื่องบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส SQ321 ตกหลุมอากาศ พบเครื่องบินเปลี่ยนระดับความสูงรวดเร็ว ดิ่งลงมา 54 เมตร ใน 4.6 วินาที

เครื่องบินตกหลุมอากาศ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

               จากกรณีเครื่องบินของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน SQ321 เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ ตกหลุมอากาศรุนแรง จนต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยพบว่ามีผู้โดยสารเสียชีวิต 1 ราย เป็นชายวัย 73 ปี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกส่งรักษายังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ อีกจำนวนหนึ่งนั้น

อ่านข่าว : เปิดข้อมูลการบิน เที่ยวบิน SQ321 กับรหัส Squawk สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ตกหลุมอากาศอย่างแรง

เครื่องบินตกหลุมอากาศ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

ล่าสุด (29 พฤษภาคม 2567) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า กระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ เผยแพร่รายงานการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์เที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศรุนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเครื่องบินมีการเปลี่ยนระดับความสูงขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่เครื่องบินจะลดระดับความสูงลงมาถึง 178 ฟุต หรือ 54 เมตร ภายในเวลา 4.6 วินาที

รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนของสิงคโปร์ได้ดึงบันทึกข้อมูลการบิน รวมถึงบันทึกเสียงในห้องนักบิน ออกมาจากเครื่องบินลำดังกล่าวแล้ว และจากข้อมูลเบื้องต้น สำนักงานสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งของสิงคโปร์ (TSIB) พบว่า ก่อนที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศรุนแรง เที่ยวบิน SQ321 ทำการบินปกติมาจนผ่านพื้นที่ซึ่งมีการลอยตัวขึ้นของอากาศเนื่องจากความร้อน บริเวณเหนือพื้นที่ตอนใต้ของประเทศเมียนมา ซึ่งขณะนั้นเครื่องบินทำการบินที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต หรือ 11,300 เมตร

ปรากฏว่าจากนั้นแรงโน้มถ่วงหรือ แรง G เกิดการผันผวน ทำให้เครื่องบินเริ่มสั่นสะเทือนเล็กน้อย ก่อนที่แรง G จะมีการเปลี่ยนแปลงฉับพลันจาก 1.35G ไป -1.5G ภายในเวลา 0.6 วินาที ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัยลอยขึ้นจากที่นั่ง และเมื่อแรง G เปลี่ยนจาก -1.5G เป็น +-1.5G ภายในเวลา 4 วินาที ก็ทำให้ผู้โดยสารที่ตัวลอยอยู่กลางอากาศ ร่วงตกลงมากระแทกพื้น

กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรง G ในช่วงเวลา 4.6 วินาทีนั้น ส่งผลให้เครื่องบินลดระดับความสูงลง 178 ฟุต เป็นผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับบาดเจ็บในลำดับเหตุการณ์ดังกล่าว

เครื่องบินตกหลุมอากาศ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

ด้าน ดร.กาย เกรตตอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน เผยกับบีบีซีว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจเทียบได้กับการวางไข่ไว้ในกล่องโลหะ จากนั้นก็เขย่ากล่องขึ้นและลง”

ท่ามกลางลำดับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรง G บันทึกข้อมูลพบว่า นักบินพยายามควบคุมเพื่อทำให้เครื่องบินทรงตัวได้ โดยปลดระบบออโต้ไพลอต และควบคุมเครื่องบินด้วยตัวเองเป็นเวลา 21 วินาที ก่อนจะเปิดระบบออโต้ไพลอตอีกครั้งหลังจากนั้น กระทั่งเครื่องกลับมารักษาระดับความสูงที่ 37,000 ฟุตได้ตามเดิม

ทั้งนี้ เมื่อนักบินได้รับแจ้งจากลูกเรือว่ามีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย เพื่อขอลงจอดฉุกเฉิน โดยนักบินได้ร้องขอให้มีทีมแพทย์มาประจำการเมื่อเครื่องบินลงจอด

หลังเหตุการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศประมาณ 17 นาที นักบินค่อย ๆ ทำการลดระดับความสูงของเครื่องบินลง จนกระทั่งลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระหว่างการเปลี่ยนเส้นทางเครื่องบินไม่พบการตกหลุมอากาศรุนแรงอีก

               อนึ่ง TSIB เผยว่า การสอบสวนยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้โดยสารจากเที่ยวบิน SQ321 พบว่าในวันที่ 29 พฤษภาคม ยังมีผู้โดยสารอีก 42 คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยในจำนวนนี้มี 26 คนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

ติดตามอ่าน ข่าวต่างประเทศ ที่น่าสนใจได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก BBC, Ministry of Transport

ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *