ผลสอบสวนเบื้องต้น เครื่องบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส SQ321 ตกหลุมอากาศ พบเครื่องบินเปลี่ยนระดับความสูงรวดเร็ว ดิ่งลงมา 54 เมตร ใน 4.6 วินาที
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
อ่านข่าว : เปิดข้อมูลการบิน เที่ยวบิน SQ321 กับรหัส Squawk สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ตกหลุมอากาศอย่างแรง
ล่าสุด (29 พฤษภาคม 2567) สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า กระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ เผยแพร่รายงานการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับเหตุการณ์เที่ยวบิน SQ321 ตกหลุมอากาศรุนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเครื่องบินมีการเปลี่ยนระดับความสูงขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่เครื่องบินจะลดระดับความสูงลงมาถึง 178 ฟุต หรือ 54 เมตร ภายในเวลา 4.6 วินาที
รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนของสิงคโปร์ได้ดึงบันทึกข้อมูลการบิน รวมถึงบันทึกเสียงในห้องนักบิน ออกมาจากเครื่องบินลำดังกล่าวแล้ว และจากข้อมูลเบื้องต้น สำนักงานสืบสวนความปลอดภัยด้านการขนส่งของสิงคโปร์ (TSIB) พบว่า ก่อนที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศรุนแรง เที่ยวบิน SQ321 ทำการบินปกติมาจนผ่านพื้นที่ซึ่งมีการลอยตัวขึ้นของอากาศเนื่องจากความร้อน บริเวณเหนือพื้นที่ตอนใต้ของประเทศเมียนมา ซึ่งขณะนั้นเครื่องบินทำการบินที่ระดับความสูง 37,000 ฟุต หรือ 11,300 เมตร
ปรากฏว่าจากนั้นแรงโน้มถ่วงหรือ แรง G เกิดการผันผวน ทำให้เครื่องบินเริ่มสั่นสะเทือนเล็กน้อย ก่อนที่แรง G จะมีการเปลี่ยนแปลงฉับพลันจาก 1.35G ไป -1.5G ภายในเวลา 0.6 วินาที ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัยลอยขึ้นจากที่นั่ง และเมื่อแรง G เปลี่ยนจาก -1.5G เป็น +-1.5G ภายในเวลา 4 วินาที ก็ทำให้ผู้โดยสารที่ตัวลอยอยู่กลางอากาศ ร่วงตกลงมากระแทกพื้น
กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรง G ในช่วงเวลา 4.6 วินาทีนั้น ส่งผลให้เครื่องบินลดระดับความสูงลง 178 ฟุต เป็นผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับบาดเจ็บในลำดับเหตุการณ์ดังกล่าว
ท่ามกลางลำดับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรง G บันทึกข้อมูลพบว่า นักบินพยายามควบคุมเพื่อทำให้เครื่องบินทรงตัวได้ โดยปลดระบบออโต้ไพลอต และควบคุมเครื่องบินด้วยตัวเองเป็นเวลา 21 วินาที ก่อนจะเปิดระบบออโต้ไพลอตอีกครั้งหลังจากนั้น กระทั่งเครื่องกลับมารักษาระดับความสูงที่ 37,000 ฟุตได้ตามเดิม
ทั้งนี้ เมื่อนักบินได้รับแจ้งจากลูกเรือว่ามีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย เพื่อขอลงจอดฉุกเฉิน โดยนักบินได้ร้องขอให้มีทีมแพทย์มาประจำการเมื่อเครื่องบินลงจอด
หลังเหตุการณ์เครื่องบินตกหลุมอากาศประมาณ 17 นาที นักบินค่อย ๆ ทำการลดระดับความสูงของเครื่องบินลง จนกระทั่งลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระหว่างการเปลี่ยนเส้นทางเครื่องบินไม่พบการตกหลุมอากาศรุนแรงอีก
อนึ่ง TSIB เผยว่า การสอบสวนยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้โดยสารจากเที่ยวบิน SQ321 พบว่าในวันที่ 29 พฤษภาคม ยังมีผู้โดยสารอีก 42 คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยในจำนวนนี้มี 26 คนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
ขอบคุณข้อมูลจาก BBC, Ministry of Transport