November 22, 2024

ปลายปีได้แน่ จุลพันธ์ ลั่น ไตรมาส 4 เงินดิจิทัล 1 หมื่น ถึงมือปชช.แน่

 

 

 

 

 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 มีนาคม ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงความคืบหน้าไทม์ไลน์โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการสอบถามความจริง ได้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้ไทม์ไลน์ชัดเจนขึ้น ส่วนกำหนดวันถึงมือประชาชนยังเป็นกรอบเวลา ทั้งนี้ วันที่ 27 มี.ค.นี้ อนุกรรมการฯ จะนำรายงานความคืบหน้า และส่วนที่องค์กรต่างๆได้ตอบคำถามมาไม่ต่ำกว่า 100 หน่วยงาน ซึ่งเป็นการตอบกลับมาเกือบครบถ้วน เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วอลเล็ต (บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่) พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นทางการแล้วเข้าสู่ที่ประชุมชุดใหญ่เพื่อให้รับทราบด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงคลังจะได้นำเสนอถึงปัญหาต่างๆ เพื่อหากลไกที่จะเดินหน้าให้คณะกรรมการชุดใหญ่รับทราบ ซึ่งหลังจากวันที่ 27 มี.ค. จะมอบหมายให้แต่ละส่วนงานดำเนินการในรายละเอียดที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จากนั้น จะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่จะสรุปรายละเอียดเงื่อนไขโครงการทั้งหมด เพื่อนำส่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดินหน้า ซึ่งเชื่อว่าในระยะเวลาไม่นานหลังประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่จะสามารถส่งเข้าครม.ได้ จากนั้น จะเป็นการวางกรอบการทำงานด้านกฎหมาย ตัวเงิน และระบบเทคนิคต่างๆ นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ จะสามารถลงทะเบียนร้านค้า และลงทะเบียนประชาชนได้ ซึ่งระบบค่อนข้างพร้อมแล้ว ขณะที่ไตรมาส 4 ก่อนสิ้นปีนี้จะมีการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ถึงมือประชาชนในหลักเกณฑ์ที่เราได้กำหนดไว้แน่นอน

เมื่อถามถึงความชัดเจนว่าจะใช้งบประมาณส่วนไหน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รอให้มีมติคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ ก่อนดีกว่า ซึ่งเดินหน้าโครงการแน่นอน เงินจะถึงมือประชาชนภายในปีนี้ไตรมาสสุดท้ายคือช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 67 ซึ่งยืนยันว่า เราจะทำให้เร็วที่สุด เมื่อถามว่า ชัดเจนว่าจะไม่กู้ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้พูดกันเรื่องนั้น ขอให้รอฟังผลการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ดีกว่า แต่ขอให้ความมั่นใจว่าตอนนี้มีเงิน ส่วนเงื่อนไขไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมมากนัก ยังคงกรอบเดิมคือ 50 ล้านคน และยังไม่มีการลดจำนวนหลักเกณฑ์เรื่องรายได้

เมื่อถามว่า จากการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ มีข้อสรุปถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ว่าวิกฤตหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราคงไม่ถกเถียงกันตรงนั้น แต่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศขณะนี้มีเสียงตรงกัน ว่าควรมีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเหมาะสม เมื่อถามย้ำว่า รัฐบาลมีเงินที่จะใช้ดำเนินโครงการใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “ใช่” ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ใช้วิธีการกู้หรือไม่ นายจุลพันธ์ ตอบว่า ยังไม่มีมติคณะกรรมการชุดใหญ่ ถ้าตนพูดจะผิดกฎหมาย แต่เรามีช่องทางที่จะดำเนินการแน่นอน ส่วนเงินที่จะออกมาเป็น 2 ก้อนหรือคิกออฟพร้อมกันนั้น ขอให้รอฟังคณะกรรมการชุดใหญ่ “มั่นใจจะแจกเงินได้ในไตรมาส 4 เพราะเราดูข้อกฎหมาย และรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในกรอบที่สามารถดำเนินการได้ ได้รับการสนับสนุนความเห็นจากส่วนงานครบถ้วน และให้ข้อมูลเป็นประโยชณ์ จนเชื่อว่าเดินหน้าได้ไม่ติดขัด” รมช.คลัง กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของรายงานความเห็น ป.ป.ช. ที่ได้ไปศึกษาไม่มีอะไรต่างจากเดิม ทำให้ไม่ต้องมีกระบวนการเพิ่มเติมในส่วนนั้น แต่ที่ต้องนำเข้าที่ประชุมชุดใหญ่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งไม่มีอะไรติดขัด เรารับฟังข้อคิดเห็นทั้งหมด บางอย่างที่อาจจะผิดจากกรอบนโยบายเราก็รับฟัง และหาช่องทางให้เหมาะสมที่สุด แต่จะให้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างเดียวคงไม่ทำแบบนั้น เพราะเรามีเป้าหมายกระต้นเศรษฐกิจไม่ใช่การเยียวยา สิ่งต่างๆเป็นการสนองตอบต่อคำถามในสังคม และป.ป.ช.ที่มีความห่วงใย เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเหตว่านโยบายดังกล่าวไม่ตรงปก ห่วงว่าจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เราไม่ห่วงประเด็นนี้เลย เพราะขณะนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีการแถลงต่อรัฐสภา รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสมต้องหารือเพื่อหาจุดสมดุล

สุดท้ายก็ออกมาเป็นลักษณะนี้ ดังนั้น เมื่อเดินหน้าแล้วเราก็ต้องหากลไกที่เหมาะสม ตอบสนองหลักการ และตอบสนองต่อวัตถุประสงค์มากที่สุด เมื่อมีข้อท้วงติงเรื่อง 54 ล้านคน เราก็ปรับลดลงมาเล็กน้อยตามข้อห่วงใย ส่วนที่ทางวุฒิสภาสอบถามว่าเป็นการจูงใจให้เลือกหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะผ่านพ้นการเลือกตั้งมานานแล้ว แต่เป็นการกระตุ้มเศรษฐกิจ “ในการเลือกตั้งแน่นอนว่าทุกพรรคก็มีนโยบายลักษณะนี้ ส่วนที่พูดในสภาว่าจูงใจซื้อเสียง ก็ต้องถามกลับว่านโยบายบัตรคนจนเป็นการเติมเงินให้ประชาชนหรือไม่ หรือแม้แต่นโยบายเพิ่มเงินผู้สูงอายุก็คงไม่ต่างกัน ดังนั้น เงินดิจิทัลฯ จึงเป็นนโยบายรัฐที่ได้รับการประทับตรามาโดยประชาชนในระดับหนึ่ง ได้เข้าสู่รัฐสภาในการแถลงนโยบายแล้วเท่ากับดำเนินการครบถ้วน เราจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อประชาชนในการเดินหน้าให้สำเร็จ” นายจุลพันธ์ กล่าว เมื่อถามว่า ส.ว.บอกรายละเอียดแตกต่างจากเดิมที่หาเสียงไว้ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เวลาดำเนินการจริงหากมีจุดที่ต้องปรับแก้เพื่อให้เดินหน้าได้ก็มีความจำเป็นต้องทำ เมื่อถามว่า หลังจากนี้ต้องพูดคุยกับพรรคร่วมอีกหรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นายกฯมีการพูดคุยอยู่ตลอดอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนทราบความคืบหน้าของโครงการ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *