November 22, 2024

เตือนด่วน! ใครเผาในที่ ส.ป.ก. ให้ยึดคืนทันที

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร รับทราบสถานการณ์จุดความร้อนสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 21 มี.ค. 2567 ประเทศไทยมีจุดความร้อนสะสมทั่วประเทศ 9,924 จุด น้อยกว่าปี 2566 ถึง 1,071 จุด

แบ่งเป็นจุดความร้อนสะสมในพื้นที่เกษตรกรรม 3,567 จุด หรือ 36% ของทั้งหมด หรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 193 จุด จากปี 2566 จำนวน 3,760 จุด

แบ่งเป็น พื้นที่การเกษตร 2,170 จุด หรือ 22% ของทั้งหมด และในเขต ส.ป.ก.1,397 จุด หรือ 14% ของทั้งหมด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่การเกษตร 3 จังหวัดแรก ได้แก่ นครราชสีมา 127 จุด เพชรบูรณ์ 123 จุด และขอนแก่น 120 จุด ในเขต ส.ป.ก. พบจุดความร้อนสะสมสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ สระแก้ว 141 จุด ชัยภูมิ 113 จุด และนครราชสีมา 110 จุด

การรายงานผลการป้องกันและการเฝ้าระวังการเผาซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 22 มีนาคม 2567 (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม 2567 โดยชุดปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม) ตรวจสอบพบว่ามี 404 จุด เกิดจากการเผาจริงแต่ไม่ใช่พื้นที่การเกษตร 985 จุด ไม่พบการเผาในพื้นที่จริง และอีก 391 จุด อยู่ระหว่างตรวจสอบ

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีการดำเนินการเชิงรุก โดยการส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณามอบหมายเกษตรและสหกรณ์จังหวัด บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกภาคส่วนจัดตั้งชุดปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม

รวมถึงลงพื้นที่ขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการเผา พร้อมทั้งตรวจสอบพิกัดที่พบจุดความร้อนจากข้อมูลดาวเทียมว่ามีการเผาจริงหรือไม่ หากพบว่าผู้ใดทำการเผาพืชผลทางการเกษตรบนพื้นที่ ส.ป.ก. เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าได้กระทำจริง จะสิ้นสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินและแจ้งให้ออกจากพื้นที่

ในส่วนมาตรการรองรับเพื่อความยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างกำหนดมาตรฐาน GAP PM2.5 FREE ซึ่งจะมีผลบังคับในปี 2568 ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดการเผาทุกขั้นตอน เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว

สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาขั้นตอนการดำเนินการกับผู้ที่เผาพืชผลทางการเกษตรอย่างจริงจังเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้มีการกระทำซ้ำและลดผลกระทบกับผู้อื่นในวงกว้าง รวมถึงมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ วางแผนการของบประมาณหรือการทำโครงการให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินโครงการ ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *