จากกรณี แรงงานชาวเมียนมา ลุกฮืออีกรอบ หลังยอมรับข้อเสนอการเยียวยาผู้เสียชีวิตเหตุโรงงานเครนถล่มไปแล้ว แต่ยังไปพังรถนักข่าว ก่อนจะรวมตัวกันกดดันนายจ้างเพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องหักเงินประกันสังคม แต่ไม่เข้ากองทุน โดยมีการปักหลักชุมนุมเรียกร้องกันภายในโรงงาน จนกระทั่ง นายกำธร เวหน รองผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องเข้ามาร่วมรับฟังด้วย ที่หน้าสำนักงาน ไซต์ก่อสร้าง โรงหลอมเหล็ก ซินเคอหยวน ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
โดยได้ให้ตัวแทน แรงงานเมียนมา ฝ่ายนายจ้าง และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปจากข้อเรียกร้องทั้งหมด โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ได้ไปเจรจากับกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาโรงงานหลอมเหล็กเครนถล่ม ที่ลุกฮือประท้วงรอบสอง จนได้รับความพอใจตามความประสงค์ ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้แทนบริษัท ฝ่ายหน่วยงาน และฝ่ายแรงงานญาติผู้เสียชีวิตโดยผลการหารือได้ข้อสรุป 8 ข้อ ดังนี้
1.เยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย รายละ 1.6 ล้านบาท โดยวันที่ 29 มีนาคม 2567 ได้มอบเงินสดให้กับญาติของผู้เสียชีวิตไปแล้วราย ๆ ละ 5 แสนบาท คงเหลือ 1,100,000 บาท
2.นายจ้าง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ ให้กับลูกจ้างผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย
3. กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าเงินสมทบประกันสังคมที่นายจ้างหักจากลูกจ้างแต่ไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมสำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้เป็นรายบุคคลใน 2 สัปดาห์
4.กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าลูกจ้างประสบอันตรายสูญเสียอวัยวะและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้นายจ้างนำส่งเอกสารเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดภายใน 2 สัปดาห์
5. กรณีฝ่ายลูกจ้างส่งเอกสารค่ารักษาพยาบาลเบิกกับนายจ้างแต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตรวจสอบ ภายใน 2 สัปดาห์
6.กรณีหนังสือเดินทางของลูกจ้างทั้งสองฝ่ายประสงค์ตรงกันจะเก็บเอาไว้ที่บริษัทและจะถ่ายเอกสารให้กับลูกจ้างแต่จะให้คือเมื่อลาออก
7. กรณีลูกจ้าง 3 คนซึ่งมีข้อสงสัยว่านายจ้างจะเลิกจ้างสำนักงานสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองจะตรวจสอบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด
8.นายจ้างรับว่าจะปฏิบัติต่อลูกจ้างชาวเมียนมาให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ทั้งนี้ หลังการแถลงข้อสรุป นายทูลิน เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานเมียนมา ได้สื่อสารภาษาเมียนมาในข้อสรุปทั้งหมด ต่อหน้าแรงงานที่ปักหลักชุมนุม หลังจากกล่าวจบ ทุกคนต่างปรบมือ และ พอใจกับข้อสรุป และ เลิกชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ เตรียมตรวจสอบกรณีที่มีข้อมูลว่ามีการแอบฝังศพแรงงานต่างด้าวที่เสียชีวิตจากการทำงาน บริเวณเนินเขาหลังโรงงาน โดยนายชินอ่อง แรงงานเมียนมาที่มาจาก กทม.เพื่อช่วยเพื่อนร่วมชาติ กล่าวถึงกรณีมีศพถูกฝังว่า ก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้
ขณะที่นายอัง โก ลิน หนึ่งในตัวแทนแรงงานเมียนมา และเป็นล่าม ได้ยกมือไหว้ขอโทษเจ้าหน้าที่กู้ภัยและนักข่าวที่ถูกพังรถ สำหรับพิธีศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย เตรียมติดต่อรับศพหลังการชันสูตร ไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีที่วัดภายใน อ.ปลวกแดง ต่อไป