รพ.มหาราชนครราชสีมา เปลี่ยนลิ้นหัวใจ “พัลโมนารี” ผ่านสายสวน ได้เป็นเเห่งเเรกในภาคอีสาน ความเสี่ยงน้อยกว่าผ่าตัดเปิดหน้าอก ฟื้นตัวเร็ว
วันที่ 5 เม.ย.2567 ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา นพ.ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เป็นประธานแถลงข่าว การสวนหัวใจเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนแห่งแรกในภาคอีสาน โดยมี นพ.สุผล ตติยนันทพร สสจ.นครราชสีมา
นพ.ประวีณ ตัณฑประภา ผอ.รพ.มหาราชนครราชสีมา ผศ.นพ.วรกานต์ พรหมพันธุ์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นพ.พินิจ แก้วสุวรรณะ ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายการแพทย์คนที่ 1 และ นพ.ประภัสร์ อัศยเผ่า ผู้ช่วย ผอ.ภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศ (ด้านโรคหัวใจและทารกแรกเกิด) รพ.มหาราชนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าว
นพ.ภูวเดช กล่าวว่าโรคหัวใจแต่กำเนิด เป็นโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และมีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยกว่าครึ่ง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด เพื่อแก้ไขความผิดปกติ และมีโอกาสต้องผ่าตัดซ้ำเพราะความซับซ้อนของโรค ซึ่งการผ่าตัดในแต่ละครั้งจะเพิ่มความเสี่ยง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจและระบบอื่นๆ ได้
แต่การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน (percutaneous pulmonary valve implantation, PPVI) เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง จากการผ่าตัดซ้ำได้ และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ในเวลาเพียง 1-2 วัน ถือเป็นการรักษาที่ปลอดภัย และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก
ด้าน นพ.ประวีณ กล่าวเพิ่มเติมว่าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.มหาราชนครราชสีมา ได้พัฒนาศักยภาพด้านการรักษามาตลอด โดยมีการลงนาม MOU ด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน เมื่อปี66 ซึ่งการสวนหัวใจในครั้งนี้
ได้รับการสนับสนุนคณะแพทย์และพยาบาลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เข้าร่วมทำหัตถการให้แก่ผู้ป่วยหญิงอายุ 22 ปี ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เคยได้รับการผ่าตัดเมื่ออายุ 5 ขวบ ปัจจุบันมีปัญหาลิ้นหัวใจพัลโมนารีรั่วอย่างรุนแรง จึงต้องได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารี
“การสวนหัวใจเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน ให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจครั้งนี้ นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในภาคอีสาน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วย ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างสะดวก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดต่อไป”