นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อปัญหาและการดำเนินการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เสมอมา โดยได้ดูแลและให้บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่
เกี่ยวข้อง ปรับเปลี่ยนกฎหมายใหม่ กยศ. ให้เป็นไปเพื่อสร้าง Ecosystem เกิดการกู้ยืมที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพ ตามบทบาทของ Regulator หนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมยืนยันว่า เมื่อเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ต้องอยู่บนโครงสร้างที่เป็นธรรม
ส่วนกรณีคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ กยศ. ที่พบว่าขาดสภาพคล่อง และมีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 9.7 หมื่นล้านบาทนั้น โฆษกประจำสำนักนายก
รัฐมนตรี ชี้แจงว่า ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ แท้จริงแล้วมีต้นตอของปัญหาที่สะสมมานาน โดยรูปแบบการจ่ายต่องวดสูงขึ้นทุกปี มีเบี้ยปรับ 18% ต่อปี ทั้งที่ดอกเบี้ย 1% ต่อปี และมีลำดับการตัดจ่ายหนี้ที่จ่ายเท่าไรก็ไม่ถึงต้น
สำหรับเรื่องการบังคับใช้กฎหมายใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้มากขึ้น เริ่มที่ กยศ. คำนวณยอดหนี้ใหม่ ทั้งการลดเบี้ยปรับจาก 18% เป็น 0.5% ต่อปี การปรับเพิ่ม/ทางเลือกจำนวนงวดจ่าย และการปรับลำดับการตัดหนี้ให้ตัดเงินต้นก่อน ซึ่งจะทำให้ลดภาระ
เงินต้นคงค้าง เช่น จาก 2.1 แสนบาท เหลือ 5.1 หมื่นบาท เป็นต้น นอกจากนี้กฎหมาย กยศ.ใหม่ ยังยกเลิกผู้ค้ำประกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานของเจ้าหนี้ที่ต้องรับผิดชอบและเป็นธรรม กรณีผู้กู้มีศักยภาพและอยู่ในวิสัยที่จะชำระเงินกู้เอง
ดังนั้น กฎหมายใหม่ กยศ. จะมีผลเป็นคุณต่อผู้กู้ทุกราย 3.6 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน จะหลุดพ้นจากภาระ และกรณีลูกหนี้ผิดนัดยังไม่ปิดบัญชี จะมียอดหนี้คงค้างลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และจะยุติการ
บังคับคดีทุกรายจนกว่าจะมีการคำนวณยอดหนี้ใหม่ โดย กยศ. มีหน้าที่ดำเนินการไม่ให้ขาดอายุความ ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณปี 2568 เติมให้กองทุน กยศ. เพื่อสภาพคล่องของกองทุนอย่างเหมาะสมต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุในช่วงท้ายว่า นายกรัฐมนตรีต้องการช่วยเหลือเยาวชน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้มีโอกาสทางการศึกษามากที่สุด เพราะเยาวชนเป็นกำลังหลักในการพัฒนาชาติ อย่างไรก็ดี ผู้กู้ทุกรายต้องมีความรับผิดชอบ เมื่อเป็นหนี้ต้องใช้หนี้
แต่รัฐบาลเข้าใจดีว่าต้องเป็นไปภายใต้หลักเกณฑ์โครงสร้างที่เป็นธรรม ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการตลอดมาคือต้องการจัดการให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบระเบียบ ภายใต้การคำนึงถึงภาพรวมของสังคมที่เท่าเทียมเป็นธรรม