November 22, 2024

เพิ่งจะรู้! สาเหตุที่ประเทศไทยขับรถพวงมาลัยขวา ทั้งที่ส่วนมากขับพวงมาลัยซ้าย

 

 

 

 

 

เคยมีใครสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมประเทศไทยถึงขับรถชิดซ้าย พวงมาลัยขวา ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ทั่วโลก เลือกที่จะขับรถชิดขวา พวงมาลัยซ้าย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยสงสัยแล้วล่ะก็ วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบให้หายสงสัยกัน

ทราบหรือไม่ว่า จากจำนวนประเทศทั้งหมด 241 ประเทศทั่วโลก ที่มีการเก็บสถิติ พบว่าประเทศที่ขับรถชิดซ้าย (Left-hand traffic) บนโลกนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 68 ประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น, อังกฤษ, อินเดีย และไทย เทียบกับประเทศที่ขับรถชิดขวา (Right-hand traffic) จำนวนถึง 173 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, จีน และอื่น ๆ

 

แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ของโลกจะนิยมขับรถชิดทางขวา (พวงมาลัยซ้าย) แต่อดีตตั้งแต่ยุคโบราณพบว่าคนส่วนใหญ่นิยมเดินทางด้วยการชิดซ้ายมากกว่า ซึ่งย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคที่ใช้รถม้ากับเกวียนในการโดยสารด้วยซ้ำไป เนื่องจากคนส่วนใหญ่ถนัดขวา ทำให้การควบคุมพาหนะด้วยวิธีชิดซ้ายทำได้ง่ายกว่า และยังง่ายต่อการชักดาบเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่อยู่ทางขวาอีกด้วย

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศส่วนใหญ่หันมาเดินทางด้วยการชิดขวา เริ่มต้นที่ยุคสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสช่วงปลายศตวรรษที่ 17 โดย นโปเลียน โบนาปาร์ต เป็นผู้เริ่มต้นให้ประชาชนในประเทศหันมาเดินทางด้วยวิธีชิดขวาแทน ก่อนที่อิทธิพลดังกล่าวจะเผยแผ่ไปถึงอาณาเขตที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสด้วย

ส่วนประเทศอังกฤษและอาณาเขตที่อังกฤษปกครองในสมัยนั้น ยังคงยึดแนวทางการขับรถชิดซ้ายเช่นเดิม ต่อมา แต่ละประเทศก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการเดินพาหนะให้เหมาะสมกับประเทศใกล้เคียง เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศแคนาดา ที่มีการเปลี่ยนทิศทางการเดินรถจากชิดซ้ายเป็นชิดขวาเมื่อช่วงยุค 1920 เพื่อให้การเดินทางข้ามไปยังสหรัฐอเมริกาทำได้อย่างสะดวกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหรือชาติใดในโลก แต่ไทยก็เลือกที่จะขับรถชิดซ้ายเหมือนกับอังกฤษ เนื่องจากช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ไทยได้รับอิทธิพลจากอังกฤษค่อนข้างมาก

ประกอบกับราชวงศ์อังกฤษ ได้ถวายรถยนต์คันแรกของประเทศให้แก่พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยนั้น จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมประเทศไทยถึงเลือกขับรถพวงมาลัยขวานับตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยทั้งหมดล้วนแต่ขับรถพวงมาลัยซ้าย (ยกเว้นมาเลเซีย)

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *