September 19, 2024

บทบาทของสื่อควรอยู่ตรงไหน กรณี “น้องไนซ์ เชื่อมจิต”

 

 

 

 

 

 

กรณีของ ด.ช.นิรมิต หรือ “อาจารย์น้องไนซ์” วัย 8 ปี ที่จัดกิจกรรม “เชื่อมจิต” ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ได้ทำให้มีทั้งผู้ศรัทธาและผู้วิพากษ์วิจารณ์มากมาย และนำไปสู่การตรวจสอบจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในเวลาต่อมา

ล่าสุด เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.สุราษฎร์ธานี ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ปกครองหยุดกิจกรรมต่าง ๆ และขอคุ้มครองฉุกเฉินสวัสดิภาพเด็ก และให้มีการประเมินสุขภาพจิตและความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ปกครอง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กแล้ว โดยศาลจะมีการไต่สวนวันที่ 17 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

นอกเหนือไปจากประเด็นดังกล่าว นักวิชาการด้านสื่อมวลชนยังเห็นว่า ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกรณีเด็กชายและครอบครัวจัดกิจกรรมที่เรียกกันว่า “เชื่อมจิต” นี้ สื่อมวลชนก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการขยายความขัดแย้งด้วยเช่นกัน รวมถึงเข้าไปเป็นผู้ขัดแย้งโดยตรง จากกรณีการฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างผู้ประกาศรายการโหนกระแสทางช่อง 3 กับครอบครัวของเด็ก จนทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้ว สื่อควรทำหน้าที่เช่นไร เมื่อต้องรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ และมีเด็กเป็นศูนย์กลางของเรื่องเช่นนี้

จากกิจกรรมนั่งสมาธิออนไลน์ สู่ “ลัทธิเชื่อมจิต”

ย้อนไปเมื่อปลายปี 2566 เกิดการปรากฏตัวขึ้นของ “อาจารย์น้องไนซ์” หรือ ด.ช.นิรมิต (ขอสงวนนามสกุล) วัย 8 ขวบ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นร่างอวตารขององค์เพชรภัทรนาคานาคราช ที่พระพุทธเจ้าส่งลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อสอนธรรมะยกระดับจิตใจและแสงแห่งปัญญาผ่านการ “เชื่อมจิต” และนั่งวิปัสสนา

ต่อมากลุ่มผู้เห็นต่าง นำโดยนายนิยม นพรัตน์ (เค ถุยส์) และนายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต สส. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบว่า คอร์สเชื่อมจิตดังกล่าวอาจเข้าข่ายหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ หลังจากพบว่าผู้เข้าร่วมต้องเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 1,900-4,200 บาท ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับไปดำเนินการตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีก่อน

นายพิชญะ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้เป็นบิดาได้เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยในประเด็นการรับผลประโยชน์ในช่วงปลายปี 2566 ว่า “เราเคยพูดและยกมือไหว้ต่อหน้าพระพุทธเจ้ามาแล้วว่า ผลประโยชน์ต่าง ๆ เราไม่มี น้องบอกไม่ให้รับ หน้าที่เผยแผ่ธรรม ห้ามรับผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น”

ด้านทนายความของครอบครัว ด.ช.นิรมิต ชี้แจงกับบีบีซีไทยในห้วงเวลาเดียวกันว่า เงินดังกล่าวเป็นของผู้จัดงาน และนำไปใช้จ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าสถานที่ ค่าอาหาร และที่พัก

.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ด.ช.นิรมิต หรือน้องไนซ์ ที่สอนธรรมะออนไลน์ในชื่อ “นิรมิตเทวาจุติ”

ต่อมาในเดือน เม.ย. 67 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สั่งการไปยังนายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่ ณ บ้านพักของครอบครัวเด็กชายวัย 8 ปี พร้อมกับนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ (กัน จอมพลัง) เพื่อตรวจสอบ “ว่าการกระทำของเด็กอายุ 8 ขวบ เป็นอย่างไร และมีความเหมาะสมหรือไม่”

“เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้จะต้องเข้าไปตรวจสอบกับผู้ปกครองด้วยว่ามีการป้อนข้อมูลที่ผิดให้กับลูกหรือไม่ เพราะลำพังเด็กที่มีอายุยังน้อยน่าจะยังไม่มีการนึกคิดไตร่ตรองอะไรได้มาก รวมถึงตรวจสอบว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเพื่อหวังหาประโยชน์จากน้องไนซ์หรือไม่” ความเห็นของนางพวงเพ็ชรที่ระบุในเอกสารข่าวของทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 ระบุ

จากนั้นในวันที่ 17 พ.ค. ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ไม่ปรากฏแนวคิดเรื่องการเชื่อมจิตในพระไตรปิฎกและในหลักศาสนาพุทธแบบเถรวาทซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ประเทศไทยยึดถือ ถึงกระนั้น นายอินทพร ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ บอกว่า ทาง พศ. ไม่มีอำนาจในการห้ามหรือยับยั้งบุคคลที่เผยแพร่คำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ถัดมาพบว่า ทาง พศ. ได้ให้นิติกรของสำนักฯ รวบรวมพยานหลักฐาน และเข้าแจ้งความต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) ว่า กรณีเชื่อมจิตอาจเข้าข่ายนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

แต่เมื่อนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เห็นต่างได้เผยแพร่มติมหาเถรสมาคมครั้งที่ 13/2567 ลงวันที่ 29 พ.ค.2567 โดยในเนื้อหาของมติดังกล่าว ระบุหัวข้อเรื่องว่า “กรณี ลัทธิเชื่อมจิต”

ส่งผลให้ ด.ช.นิรมิต และ มารดา ทำหนังสือทวงถามถึง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า ข้อความดังกล่าวเจาะจงถึงใคร และคำว่าลัทธิหมายถึงอะไร เนื่องจากพวกเขาไม่เคยตั้งตนเองเป็นลัทธิ และอ้างว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตามหลักศาสนา จึงกังวลว่าสิ่งที่ระบุในมติมหาเถรสมาคมอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนได้

.

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/ทนาย อนันต์ชัย ไชยเดช

นอกจากการดำเนินการโดย พศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ย้อนไปก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือน พ.ค. ทางกลุ่มของทนายอนันต์ชัย และพวก ซึ่งได้แก่ นายไพรวัลย์ วรรณบุตร, นายแทนคุณ, และตัวแทนผู้เสียหาย ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับ ด.ช.ไนซ์ และพวกรวม 9 คน ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

เมื่อสื่อกลายเป็นทั้งผู้ขัดแย้ง และขยายความขัดแย้ง

กรณี “ลัทธิเชื่อมจิต” กลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อนายกรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรรายข่าว “โหนกระแส” ทางช่อง 3 ได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ เพื่อดำเนินคดีกับบิดาและมารดาของ ด.ช.นิรมิต รวมถึงนายนายธรรมราช สาระปัญญา ทนายความของครอบครัว ในข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ซึ่งเบื้องต้นผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ

ก่อนหน้านี้ ทางทนายความของครอบครัว ด.ช.นิรมิต เคยทำหนังสือร้องเรียนไปยัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสื่อมวลชน เกี่ยวกับการนำเสนอข่าว โดยอ้างว่ามีสื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง จนทำให้ ด.ช.นิรมิต ถูกกระแสสังคมโจมตี

ล่าสุด ทางครอบครัวของเด็กชายวัย 8 ปี ได้ออกบันทึกข้อตกลงในการให้สัมภาษณ์ ลงวันที่ 3 มิ.ย. 2567 ว่า พวกเขาจะให้สัมภาษณ์ตามวาระที่ต้องการชี้แจง และระหว่างตอบคำถามสื่อ อาจถามกลับว่าสื่อเข้าใจสิ่งที่พูดว่าอย่างไร “เพื่อป้องกันการวิเคราะห์ทิพย์” พร้อมกับขอให้สื่อมวลชนสอบถามด้วยความไร้อคติ และนำเสนอตามที่ฝ่ายตนเองพูดตามความเป็นจริง

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การแสดงจุดยืนดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้ให้สัมภาษณ์ แต่ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและตั้งคำถามในสิ่งที่สาธารณะชนต้องการรับรู้ด้วยเช่นกัน ตราบใดที่การทำงานของสื่อไม่ละเมิดผู้ถูกสัมภาษณ์เกินกว่าประเด็นที่เป็นข่าว แต่ในกรณีนี้มีประเด็นอ่อนไหวเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องจากเป็นเรื่องความเชื่อ และสิทธิเด็ก ทำให้สื่อจึงต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง

อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์กล่าวต่อว่า เท่าที่ติดตามการรายงานข่าวเรื่องนี้ของสื่อต่าง ๆ พบว่ามุ่งเน้นไปที่ความขัดแย้งเพื่อดึงดูดยอดผู้เข้าชม และยอดผู้มีส่วนร่วมกับเนื้อหาของข่าว (engagement) มากกว่า โดยเน้นที่ความดราม่า (drama) และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมมากกว่าการรายงานข้อเท็จจริง จนทำให้ข่าวกลายเป็นเนื้อหาความบันเทิง มากกว่ารายงานสถานการณ์ตามข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กชายวัย 8 ปีคนนี้เป็นกรณีแรก

“คำถามคือว่า สื่อต้องทำข่าวนี้อีกเยอะแค่ไหน ประเด็นไหนที่เราต้องเกาะติด ในช่วง 2-3 วันมันคือประเด็นความขัดแย้งมาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ประกาศข่าวชื่อดังไปร่วมด้วย จนเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในโลกออนไลน์อย่างชัดเจน ดังนั้น จากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราต้องรายงานข่าวอีกไหม ความขัดแย้งเรื่องคดีความต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องของเขาแล้วไหม เพราะมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับผู้ชมทางบ้าน สื่อก็ต้องหยุดรายงานได้แล้วไหม” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว

.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, กิจกรรม “เชื่อมจิต” ณ จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 21 ม.ค. มีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 400 คน

เธอบอกว่าสื่อสามารถรายงานข่าวเกี่ยวกับความเชื่อได้ โดยสภาการสื่อมวลชนได้ระบุแนวทางปฏิบัติไว้ว่า ควรรายงานข่าวเกี่ยวกับความเชื่อโดยยึดถือประโยชน์ของผู้ชมเป็นศูนย์กลาง ไม่ทำให้คนเกิดความงมงายมากขึ้น รวมถึงไม่สร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพิ่มขึ้น

“หากไล่ดูไทม์ไลน์ (timeline) ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ มันไม่มีการนำเสนอข่าวที่ทำให้คนฉลาดขึ้น หรือรู้เท่าทัน หรือเข้าใจเหตุการณ์นี้” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าวกับบีบีซีไทย และอธิบายเพิ่มเติมว่า “สัดส่วนการนำเสนอข่าวเน้นไปที่การโชว์ให้เห็นว่าการเชื่อมจิตทำอย่างไร ต้องโชว์ให้เห็นด้วยนะว่ามีวิธีการอย่างไร รวมทั้งถ่ายทอดแต่มุมที่เป็นสถานการณ์ คนที่เชื่อเรื่องนี้ก็ยิ่งเชื่อมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะยิ่งรู้สึกเกลียดชังมากขึ้น และไม่ชอบ”

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนยังมองด้วยว่า โดยหลักแล้วสื่อควรรายงานข่าวในฐานะบุคคลที่ 3 เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์แล้วนำเสนอข่าวไปยังผู้ชม สิ่งที่สื่อมวลชนควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดคือการตกเป็นบุคคลที่ 1 หรือบุคคลที่ 2 ของข่าวนั้น ๆ เอง

“เมื่อไรก็ตามที่เรากลายเป็นบุคคลที่ 1 หรือ 2 ในเรื่องนั้น มันหมายความว่าความสมดุลของเราได้หายไปแล้ว เพราะมันกลายเป็นเรื่องของเราไปแล้ว เราจะให้สัดส่วนกับอีกฝ่ายหนึ่งน้อยลง ให้บริบทอีกด้านหนึ่งน้อยลง เราจะใส่อารมณ์ความรู้สึกของเราเองมากขึ้น เมื่อความสมดุลในการนำเสนอข่าวเราหายไปแล้ว มันก็ผิดหลักการนำเสนอข่าวตั้งแต่ต้น” ผศ.ดร.สกุลศรี บอกกับบีบีซีไทย

สิทธิเด็กอยู่ตรงไหน เมื่อเด็กคือศูนย์กลางของเรื่อง ?

ข่าวที่มีเด็ก 8 ขวบเป็นศูนย์กลางของความสนใจของสาธารณชนเช่นนี้ ผศ.ดร.สกุลศรี นักวิชาด้านสื่อสารมวลชนเห็นว่า “สิ่งที่แย่ที่สุดคือ ตั้งแต่เริ่มต้นเลย [สื่อ] ไม่เคยปิดหน้าเด็กเลย” โดยเธอเห็นว่า แม้ผู้ปกครองเปิดหน้าหน้าเด็กชายนักเชื่อมจิตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ จนทำให้สาธารณะทราบถึงตัวตนของเด็กชายคนนี้อยู่เดิมก็ตาม แต่หลักการทำข่าวของสื่อมวลชนมีหลักปฏิบัติที่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องปกป้องและเคารพสิทธิเด็ก ดังนั้น สื่อไม่ควรเปิดเผยแม้กระทั่งตัวตนของพ่อแม่ด้วย เพื่อปกป้องอัตลักษณ์เด็กในระยะยาว เนื่องจากสิ่งที่ปรากฏในข่าววันนี้ จะกลายเป็นร่องรอยทางดิจิทัล (digital footprint) ไปอีกนาน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเด็กในเวลาต่อมา

“ตอนแรกสื่ออาจจะคิดว่าต้องการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นเฉย ๆ แต่ต่อมาพอเป็นคดีความ ก็เพิ่งมาเบลอหน้าเด็ก ซึ่งมันไม่สามารถปกป้อง identity (ตัวตน) ของน้องได้อีกต่อไปแล้ว” ผศ.ดร.สกุลศรี กล่าว

.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวคมชัดลึกรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา นายอภิเชษฐ์ ปานจรัตน์ ผู้อำนวยการสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยจิตแพทย์เด็ก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ปกครองของ ด.ช.นิรมิต หยุดกิจกรรมต่าง ๆ และขอคุ้มครองฉุกเฉินสวัสดิภาพเด็ก เพื่อให้ศาลสั่งให้ผู้ปกครองและบุตร เข้าประเมินสุขภาพจิตและดูความพร้อมในการเลี้ยงบุตร

การยื่นขอคุ้มครองฉุกเฉินดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กและเจ้าหน้าที่ พม. จ.สุราษฎร์ธานี พยายามเข้าประเมินสุขภาพเด็กที่บ้านพักเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 แต่ไม่สำเร็จ โดยอ้างว่าพ่อแม่ของเด็กชายขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่

วานนี้ (4 มิ.ย.) ทางพ่อแม่ของเด็กเดินทางไปยังกระทรวง พม. และได้ยื่นเรื่องขอให้ทางกระทรวงตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ พม. จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ดย.) เป็นผู้รับเรื่อง และเตรียมตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

พร้อมกันนี้ นางจตุพร แถลงกับสื่อมวลชนว่า ทาง พม. ได้ร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีไต่สวนฉุกเฉินมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ศาลยืนยันว่าจะไต่สวนเป็นกรณีปกติในวันที่ 17 มิ.ย. นี้

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจากการประเมินด้วยสายตา อธิบดี ดย. มองว่าสภาพของเด็กและผู้ปกครองเป็นเช่นไร

“ถ้าดูด้วยสายตาแล้ว น้องก็เป็นเด็กปกติทั่ว ๆ ไป ทางคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นคุณพ่อคุณแม่ปกติ” นางจตุพร ตอบสื่อมวลชน

.

คำบรรยายภาพ, ครอบครัว ด.ช.นิรมิต พร้อมด้วยทนาย เดินทางเข้ายื่นหนังสือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.

คำตอบดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. เข้าข้างครอบครัวของ ด.ช.นิรมิต ส่งผลให้ล่าสุดวันนี้ (5 มิ.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้ออกมายืนยันว่าตัวเขาเอง, ปลัด พม. หรือ อธิบดี ดย. ไม่ใช่นักจิตวิทยาหรือนักสหวิชาชีพ

“ดังนั้นการที่เราจะไปตัดสินคนใดคนหนึ่งหรือแม้แต่เด็กคนหนึ่งว่ามีความปกติหรือไม่ปกตินั้น ตนคิดว่าด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของข้าราชการ เราคงไม่สามารถที่จะไปกล่าวหาหรือบอกว่าคนนั้นปกติ คนนี้ไม่ปกติได้” นายวราวุธระบุในเอกสารข่าวของกระทรวง พม.

“ผมคิดว่าไม่มีใครที่จะระบุหรือกล่าวหาว่าคนใดคนหนึ่งผิดปกติหรือไม่ เพราะว่าในทางกลับกัน หากเมื่อวานนี้ อธิบดี ดย. บอกไปว่าเด็กมีอาการผิดปกติหนึ่ง, สอง, สาม, สี่ ก็ล่อแหลมอีก เพราะผู้ปกครองอาจจะใช้กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทมาฟ้องร้องเอากับข้าราชการได้ ซึ่งต้องเห็นใจทั้งสองฝ่าย ” รมว.พม. กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *