ถ้าจะกล่าวถึงมหาวิทยาลัยรัฐบาล ที่เป็นที่รู้จักของคนไทย แน่นอนว่าชื่อของ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กันอย่างแน่นอน เพราะทั้งสองสถาบันนี้ ขึ้นชื่อเรื่องค่าเทอมที่ไม่แพง แต่สามารถผลิตบัณฑิตที่ดีสู่สังคมได้อย่างมากมาย ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยสงสัยกันบ้างว่า ราชภัฏ กับ ราชมงคล นั้นแตกต่างกันอย่างไร
วันนี้เราก็ได้ไปรวบรวมข้อมูลมาไขข้อสงสัยให้กับเพื่อนๆ กันแล้ว ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ ต่างกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ยังไง ที่ไหนโดดเด่นเรื่องอะไรบ้าง ใครที่กำลังที่มอง 2 สถาบันนี้เป็นตัวเลือกอยู่ ลองมาศึกษาข้อมูลไปพร้อมกันเลย
ไขข้อสงสัย มหาวิทยาลัย ราชภัฏ กับ ราชมงคล แตกต่างกันอย่างไร
ประวัติของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครู หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานนาม “ราชภัฏ” จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้ง พระราชทาน พระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ทั่วประเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นระบบมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2518 ในชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548
สถาปนา
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
- โรงเรียนฝึกหัด วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2435 – 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 (67 ปี)
- วิทยาลัยครู วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 (31 ปี)
- สถาบันราชภัฏ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 – 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 (12 ปี)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 – ปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
- วิทยาลัย วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518
- สถาบัน วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2532
- มหาวิทยาลัย วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548
ภารกิจหลัก
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
มหาวิทยาลัยราชภัฏ มุ่งพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุง ศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู
(พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงมีภารกิจหลักคือ จัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี (ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้ทำการเรียนการสอนควบคู่กับทำการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เรื่อยมา อีกทั้งยังทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย
ในปี 2549 ได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดย สกอ. ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีเด่นในด้านการเรียนการสอน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับการจัดอันดับดีเด่นในด้านการเกษตร
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม ” ราชภัฏ ” และตราประจำมหาวิทยาลัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเกียรติยศสูงสุดแก่ชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร โดยนาม ” ราชภัฏ หมายความว่า เป็นคนของพระราชา ”
ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏ พิจารณาจากดวงตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 เพื่อกำหนดรูปแบบสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏ และได้รับพระราชทานมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วพระราชอาณาจักร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
ประติมากรรมรูปดอกบัว เป็นเครื่องหมายแห่งความคิดความรู้สึกร่วมกันในอันที่จะช่วยกันพัฒนาการศึกษาด้านวิชาชีพให้เจริญก้าวหน้าสืบไป รูปดอกบัวซ้อนกันขึ้น 3 ชั้น สื่อความหมายเพื่อให้เกิดความรู้สึกโปร่งเบามีกลีบบัว 8 เส้น เส้นทั้ง 8 หมายถึง มรรค 8 ประการ ส่วนยอดแหลมแทรกขึ้นสู่ฟ้า หมายถึง ผู้จะพบความสำเร็จได้จะต้องใช้ความพยายาม อย่างสูงสุด ในการผ่านแต่ละขั้นตอนการเรียนรู้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้รับพระราชทานนามสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อีกทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตอัญเชิญตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 พร้อม พระมหาพิชัยมงกุฎ มาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ทั้งนี้คณาจารย์และนักศึกษาต่างสำนักในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้
สีประจำมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
สีของตราประจำมหาวิทยาลัย มี 5 สี โดยมีความหมาย ดังนี้
- สีน้ำเงิน แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทานนาม “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
- สีเขียว แทนค่าแหล่งที่ตั้งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
- สีทอง แทนค่าความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
- สีส้ม แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
- สีขาว แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้กำหนดให้สีเหลืองและสีน้ำเงินเป็นสีประจำสถาบัน
- สีเหลือง เป็นสีวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- สีน้ำเงิน เป็นสีสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์
สาขาของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏ
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏมีทั้งหมด 38 แห่งโดยแบ่งตามการจัดงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของกลุ่ม ดังนี้
กลุ่มภาคกลาง
- มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี (มรกจ./KRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ./CRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (มรท./TRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (มรธ./DRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (มรน./NPRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส./BSRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (มรภ.พน./PNRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (มรอย./ARU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (มรภ.พบ./PBRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร./RRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (มรรพ./RBRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรวอ./VRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส./SSRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มรมจ./MCRU)
กลุ่มภาคใต้
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (มรภ.นศ./NSTRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ./PKRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย./YRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สข./SKRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส./SRU)
กลุ่มภาคเหนือ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (มรภ.กพ./KPRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.ชร./CRRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มรภ.ชม./CMRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (มรภ.นว./NSRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (มร.พส./PSRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (มรภ.พช./PCRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลป./LPRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรอ./URU)
กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (มชย./CPRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม./NRRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (มรภ.บร./BRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม./RMU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด (ม.รอ./RERU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (มรล./LRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก./SSKRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มรสน./SNRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (ม.รภ.สร./SRRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (มร.อด./UDRU)
- มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (มรภ.อบ./UBRU)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน