อัปเดตโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital wallet) ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมารัฐบาลมีการยืนยันชัดเจนแล้วว่า ผู้มีสิทธิจะเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะได้รับเงินพร้อมกันทุกกลุ่ม ไม่มีกลุ่มใดได้รับก่อน หลังมีข่าวลือว่ากลุ่มเปราะบาง ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเงินเป็นกลุ่มแรก
โดยยืนยันว่า ผู้มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด จะลงทะเบียนพร้อมกัน และรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนในไตรมาส 3 และ จะจ่ายเงินงวดเดียวทั้งก้อน ให้ทุกคนที่มีสิทธิได้เงิน 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคนและเริ่มใช้จ่ายพร้อมกันในไตรมาส 4 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คาดจะดันเศรษฐกิจโตได้อีก 1.2 – 1.6%
เบื้องต้นคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ได้แนวทางการดำเนินโครงการ รายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ดังนี้ (ข้อมูลล่าสุด)
1. กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีจะมีเกณฑ์ ได้แก่ ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ณ เดือน ที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
2.1 กลุ่มแรก คือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกาหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.2 กลุ่มสองคือ การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ซึ่งไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายในเชิงพื้นที่ และขนาดของร้านค้าระหว่างร้านค้ากับร้านค้าด้วยกัน
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับ ร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด) และตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่าย ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯได้ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. การใช้จ่ายภายใต้โครงการ จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเอง โดยหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
5. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้ เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป