นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ รัฐบาลจะเปิดลงทะเบียนแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต บนแอปฯ ทางรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 67 เป็นต้นไป โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนวันละ 1 ล้านคน เป็นเวลา 45 วัน
ส่วนกำหนดการลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน-โทรศัพท์มือถือ, กลุ่มร้านค้า และกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน-โทรศัพท์มือถือ ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้มีการประกาศวันลงทะเบียนของกลุ่มไร้สมาร์ทโฟน-โทรศัพท์มือถือ หากแบ่งรายละเอียดจะเป็นดังนี้
กลุ่มผู้ใช้สมาร์ตโฟน เริ่มลงทะเบียน 1 สิงหาคม 2567
กลุ่มไม่มีสมาร์ตโฟน ลงทะเบียนรอบถัดไป ยังไม่มีการระบุวันที่
กลุ่มร้านค้า เปิดลงทะเบียนหลัง 1 สิงหาคม 2567 แต่ยังไม่ระบุวันที่
ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตภายในไตรมาส 4 ปี 2567
3 กลุ่มต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อขอรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
กลุ่มผู้ใช้สมาร์ทโฟน โทรศัพท์มือถือ
ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 67 เป็นต้นไป ทางแอปพลิเคชั่นทางรัฐ ผ่านระบบ IOS และ Android
กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน-โทรศัพท์มือถือ
ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตน ส่วนสถานที่ และวันเปิดลงทะเบียน ต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
กลุ่มร้านค้า
ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เริ่ม 1 ส.ค. 67 โดยต้องเตรียมหลักฐานดังนี้
เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขนิติบุคคลของผู้ประกอบการ
หมายเลขโทรศัพท์
สถานที่ตั้งร้านค้า
รูปถ่ายร้านค้า
เปิดให้ลงทะเบียนได้ดังนี้
ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาพาณิชย์ที่เข้าร่วม, สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร, อบต. กับ อบจ. ประจำจังหวัด อีกช่องทางผ่านออนไลน์ แอปพลิเคชั่นทางรัฐ
คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT)
คุณสมบัติผู้มีสิทธิลงทะเบียน
อายุ 16 ปี จะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 67
เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท นับยอดบัญชีเงินฝากถึงวันที่ 31 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา โดยเงินฝากดังกล่าว ต้องเป็นเงินฝากสกุลเงินบาท ในธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐเท่านั้น ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์
แม้จะเป็นเงินที่พ่อแม่ออมให้ลูกก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ เพราะเป็นผู้มีรายได้ อีกทั้งเกณฑ์เงินฝากในบัญชีระบุไว้ชัดเจนว่า หากเกิน 500,000 บาท ถูกตัดสิทธิ
รายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธ.ค. 66 และนับรวมทุกรายได้ที่ยื่นในระบบภาษี (เงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่างานฟรีแลนซ์, ค่ารับเหมา, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย ปันผล, รายได้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ)