November 24, 2024

รู้จัก “ชามตราไก่” เอกลักษณ์เมืองลำปาง จีนทำเลียนแบบแย่งตลาด ธุรกิจกำลังจะตาย

 

รู้จัก “ชามตราไก่” ของดีเอกลักษณ์เมืองลำปาง จีนทำเลียนแบบแย่งตลาด ธุรกิจเซรามิกกำลังจะตายหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ ธุรกิจเซรามิคในพื้นที่จังหวัดลำปาง ขณะนี้ โดยเฉพาะโรงงานผลิตเซรามิกวิกฤตมาก  เนื่องจากถูกตลาดเซรามิกจากประเภทจีนทำก็มาขายตัดราคา เพียงใบละ 5 บาท ทำให้หลายโรงงานในลำปางขาดทุนจนต้องปิดตัวลงไปนับร้อยแห่ง

วันที่ 13 ส.ค.67 นายปรีชา ศรีมาลา นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง เปิดใจว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการเซรามิกย่ำแย่ที่สุด อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้จะผ่านวิกฤตช่วงโควิด-19 รวมไปถึงค่าแรง ค่าขนส่ง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัด ท่านผู้ว่าฯ นายกอบจ.ลำปาง และภาคส่วนต่างๆ ต่างยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือประคับประคองกันมาได้

จนกระทั่ง 2-3 เดือนมานี้ พบว่การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากประเทศจีนส่งถึงมือลูกค้าในราคาที่ถูกมาก เกิดจากจีนไม่สามารถขายสินค้าทางยุโรปได้ จึงเบนเข็มเข้ามาสู่ตลาดอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยด้วย เป็นสินค้าที่นำมาระบาย เรียกว่าการดัมพ์ราคา ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงงานเซรามิกขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับผลกระทบโดยตรง และเริ่มชะลอตัวหยุดการผลิตไปก่อนเพราะทำไปก็ยิ่งขาดทุน รายจ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายรับไม่มี

“ก่อนโควิดเรามีเซรามิก 328 โรงงาน จากการลงพื้นที่สำรวจช่วงปลายปี 66 ที่ผ่านมา พบผู้ประกอบการที่เหลือประกอบการจริงเพียง 89 โรงงาน ในส่วนที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ สาเหตุที่หายไป เพราะหยุดดำเนินกิจการไปบ้าง และหยุดเพื่อดูสถานการณ์ของตลาดว่าเมื่อไรจะดีขึ้น ทุกวันนี้ยังรอความหวังจากนโยบายของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นฟูขึ้น”

วอนรัฐบาลช่วย

นายกสมาคมเครื่องปั้นฯ กล่าวว่า ดังนั้นผู้ประกอบการเซรามิกลำปางที่อ่อนแอมาตั้งแต่ช่วงโควิดแล้วจึงไปไม่ไหว ทั้งที่หน่วยราชการในจังหวัดให้การช่วยเหลือกันเต็มที่ แต่ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้นรัฐบาลควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องหัตถอุตสาหกรรมพื้นฐานของท้องถิ่น โดยเฉพาะเซรามิกลำปาง ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีแหล่งแร่ดินขาวผลิตเซรามิกชั้นดีที่บ้านปางค่า อ.แจ้ห่ม ไม่เช่นนั้นเซรามิกลำปางถึงขั้นสูญพันธุ์แน่นอน

“ตอนนี้เราโดนซ้ำเติมจากสินค้าภายนอก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดไทย ถ้วยตราไก่ เป็นสินค้า GI ของ จ.ลำปาง ใช้แหล่งดินที่ จ.ลำปาง มีสัญลักษณ์รูปไก่ ต้นกล้วย ดอกโบตั๋น บ่งบอกถึงการเป็นอัตลักษณ์ของ จ.ลำปาง ต้นทุนผลิตอยู่ที่ 20 บาท

บางรายก็ขายราคาทุน หรืออาจจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่สินค้าจีนที่เป็นถ้วยชามคล้ายกันเข้ามาขายในออนไลน์ เพียง 5 บาท ไม่พอยังส่งถึงที่ด้วย และยังมีสินค้าหัตถอุตสาหกรรมหลายประเภทที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดที่โดนกระทบเหมือนกันหมด เหตุเพราะรัฐบาลปล่อยให้จีนเข้ามาโดยไม่มีการควบคุม อยากวิงวอนให้รัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบเป็นแบบลูกโซ่ไปทั่ว”

ประวัติ “ชามตราไก่”

ชามตราไก่ ของดีลำปาง มีต้นกำเนิดมาจากคนจีนโพ้นทะเลมาตั้งรกรากที่ลำปาง และพบว่าที่ จังหวัดลำปางมีดินที่สามารถทำเซรามิกที่ดีที่สุด จึงเริ่มมีการผลิตชามไก่ขึ้นในจังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยชาวจีนได้ร่วมกันต่อตั้งโรงงานแห่งแรกชื่อ โรงงานร่วมสามัคคี หลังจากได้มีการพบแหล่งดินขาวที่อำเภอแจ้ห่ม ในระหว่างปี พ.ศ. 2502-2505

จากนั้นกลุ่มชาวจีนได้ชวนกันมาก่อตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้กลายเป็นแหล่งผลิตชามตราไก่มากกว่าแหล่งอื่นในประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2505-2510 เป็นช่วงสำคัญของเซรามิกลำปาง เนื่องจากมีการเปิดโรงงานผลิตถ้วยชามเป็นจำนวนมากแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เกิดการสูญเสียวัตถุดิบ คุณภาพสินค้าไม่สม่ำเสมอ ราคาจึงตกต่ำ ขายได้เฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น

ในปี พ.ศ.2516 มีการก่อตั้งชมรมเครื่องปั้นดินเผาลำปางขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันราคาถ้วยชามตราไก่ให้มีมาตรฐานและไม่ให้มีการตัดราคากันเอง ในช่วงแรกของการก่อตั้งมีสมาชิกรวม 18 โรงงาน มีการปรับปรุงและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น มีการปรับเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิง จากการใช้ไม้ฟันมาเป็นใช้แก๊สแอลพีจี ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงและลดมลภาวะ สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ได้มีการก่อตั้งสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานกับภาครัฐให้แก่สมาชิกสมาคมฯ และจัดให้มีกิจกรรมเพื่อเผยแพร่อุตสาหกรรมเซรามิกให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย โดยสมาคมฯ ร่วมกับจังหวัดลำปาง จึงมีการจัดงาน “ลำปางเซรามิกแฟร์” ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม ของทุกปี มีการจัดงานติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับจังหวัดลำปางเป็นอันมาก ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของชามไก่ลำปาง

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *