November 22, 2024

หาชมยาก สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 13 หลายคนคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว โผล่โชว์ตัวที่เขาสก

 

หาชมยาก “สมเสร็จ” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 13 ของไทย ที่หลายคนคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว โผล่โชว์ตัวที่เขาสก

บัญชี X @pr_prdnp ของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์คลิปที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ พร้อมระบุข้อความว่า “หาชมยาก” สมเสร็จ แห่งอุทยานแห่งชาติเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 13 ของไทย 

ซึ่งหลายคนต่างตื่นเต้นเพราะคิดว่าสมเสร็จสูญพันธุ์ไปนานแล้ว ซึ่งที่จริงแล้วสมเสร็จยังไม่สูญพันธุ์ แต่มีความสุ่มเสี่ยงสูง สมเสร็จสายพันธุ์ที่อยู่ในไทยคือ Malay Tapir เป็นสัตว์สงวนของไทยที่ในบัญชีแดง IUCN อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (endangered,EN)

ปัจจุบันพบการกระจายตัวสมเสร็จในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และมีการรายงานการพบสมเสร็จอยู่ในป่าภาคใต้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและฮาลา-บาลา

วันที่ 27 เมษายน ถูกกำหนดให้เป็นวันสมเสร็จโลก (World Tapir Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาปริมาณของสมเสร็จในป่าที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการรุกรานของมนุษย์

รู้จักสมเสร็จ

สมเสร็จ (Tapir) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมกินพืชขนาดใหญ่ เป็นสัตว์มีหน้าตาประหลาด มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดผสมอยู่ในตัวเดียวกัน มีจมูกที่ยื่นยาวออกมาคล้ายงวงของช้าง ลำตัวคล้ายหมูที่มีขายาว หางสั้นคล้ายหมีและมีกีบเท้าคล้ายแรด ตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและรูปร่างคล้ายกัน ขนของสมเสร็จมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ยกเว้นในสมเสร็จที่พบในภูมิภาคมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีแถบสีขาวพาดลำตัวจากส่วนกลางไปถึงสะโพก

สมเสร็จเป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักถึง 250-300 กิโลกรัม ลูกสมเสร็จมีขนสีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลเหลือง มีลายเป็นแถบเส้นสีขาว ลากไปมาตามแนวยาวของลำตัว ลักษณะคล้ายลูกแตงไทย เมื่อโตขึ้นลายแถบสีขาวจะหายไป (ประมาณ 6-8 เดือน)

สมเสร็จ อาศัยในป่าทึบในแถบอเมริกาใต้, อเมริกากลาง, และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ สมเสร็จอเมริกาใต้, สมเสร็จมลายู, สมเสร็จอเมริกากลาง และสมเสร็จภูเขา ทั้ง 4 ชนิดถูกจัดสถานะเป็นใกล้สูญพันธุ์หรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สมเสร็จเป็นญาติใกล้ชิดกับสัตว์กีบคี่อื่น ได้แก่ ม้า และแรด พวกมันเป็นสัตว์ที่ออกหากินในช่วงเย็นและค่ำ โดยกินพืชเป็นหลัก รวมถึงใบไม้ ผลไม้ และกิ่งไม้เล็ก ๆ

สมเสร็จ ถือเป็นนักปลูกป่าตัวยง พวกเขามีความสามารถในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องด้วยอาหารที่สมเสร็จกินนั้นประกอบด้วยพืชและผลไม้ทั้งเล็กและใหญ่ นำพาเมล็ดพืชเหล่านั้นไปเติบโตยังพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

เนื่องจากการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการล่าของมนุษย์ สมเสร็จจึงเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ตามการประเมินของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์จากธรรมชาติ และถูกจัดให้เป็น 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนของไทย

สมเสร็จ ทั้งหมดมีพฤติกรรมและความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน โดยเป็นสัตว์ที่หากินตามลำพังหรือเป็นคู่ในป่าดิบชื้น ที่มีความชุ่มชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ โดยจะใช้จมูกที่ยาวเหมือนงวงในการช่วยดมกลิ่นและดึงกิ่งไม้ในพุ่มไม้กินเป็นอาหาร ซึ่งสมเสร็จสามารถที่จะกินไม้ที่มีพิษบางชนิดได้ด้วย เป็นสัตว์ที่ชอบแช่น้ำหรือโคลน เมื่อยามพบกับศัตรูจะหนีลงไปในน้ำ ซึ่งบางครั้งอาจแช่ลงไปทั้งตัวโผล่มาแค่งวงเพื่อหายใจก็ได้ เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน

สมเสร็จ เป็นสัตว์ที่มีระบบสายตาที่ไม่ดี แต่มีระบบประสาทรับฟังทางหูและดมกลิ่นดีเยี่ยม ปกติเป็นสัตว์ที่มีอุปนิสัยเรียบร้อย ไม่ก้าวร้าว แต่เคยมีรายงานว่า สมเสร็จอเมริกากลางตัวหนึ่งในสวนสัตว์โจมตีด้วยกรามใส่ผู้ดูแลซึ่งเป็นผู้หญิง เมื่อปี ค.ศ. 1998 จนได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นพิการแขนขาด สมเสร็จเป็นสัตว์ที่อ้างอิงถึงในวัฒนธรรมและความเชื่อของญี่ปุ่น ด้วยการเป็นปีศาจตนหนึ่งที่กินความฝันหรือฝันร้ายของผู้คนในนอนหลับเมื่อยามค่ำคืน เรียกว่า “บะกุ”

สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวน 20 ชนิด ดังนี้

1.นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (White-eyed River Martin)
2. แรดชวา (Javan rhinoceros)
3. กระซู่ (Sumatran rhinoceros)
4. กูปรี หรือโคไพร (Kouprey)
5. ควายป่า (Wild Water Buffalo)
6. ละอง หรือ ละมั่ง (Eld’s Deer)
7. สมัน (Schomburgk’s deer)
8. เลียงผา (Serow)
9. กวางผา (Goral)
10. นกแต้วแล้วท้องดำ (Gurney’s pitta)
11. นกกระเรียนไทย (Sarus crane)
12. แมวลายหินอ่อน (Marbled cat)
13. สมเสร็จ (Tapir)
14. เก้งหม้อ (Fea’s muntjac)
15. พะยูน หรือ หมูน้ำ (Dugong)
16. วาฬบรูด้า (Bryde’s whale)
17. วาฬโอมูระ (Omura’s whale)
18. เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle)
19. ปลาฉลามวาฬ (Whale shark)
20. นกชนหิน (Rhinoplax vigil)

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *