September 20, 2024

รู้จัก “โลหะ” ในวงการพระเครื่องวัตถุมงคล เนื้ออัลปาก้า เนื้อช้อนส้อม เนื้อชิน คืออะไร?

รู้จัก “โลหะ” ในวงการพระเครื่องวัตถุมงคล เนื้ออัลปาก้า เนื้อช้อนส้อม เนื้อชิน คืออะไร? เบญจโลหะ สัตตโลหะ นวโลหะ มีอะไรบ้าง

ในการสร้างเหรียญพระเครื่อง และพระบูชา มีโลหะหลายชนิดที่นำมาผสมกันเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหรือมวลสารในการสร้าง ซึ่งแต่ละชนิดมีชื่อเรียก มีคุณสมบัติ และราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับส่วนผสมของโลหะชนิดนั้นๆ ที่เราได้ยินบ่อยเช่น ทองคำ ทองเหลือง ทองฝาบาตร นวโลหะ เป็นต้น

พระเครื่องเนื้อโลหะต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในวงการพระ ประกอบด้วย 4 เนื้อหลัก ๆ

1. พระเนื้อทองคำ

2. พระเนื้อเงิน

3. พระเนื้อทองแดง

4. พระโลหะผสม

พระโลหะผสมจะแยกย่อยออกไปดังนี้

  • เนื้อทองเหลือง

เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี โดยมีสัดส่วนทองแดง 75 เปอร์เซ็นต์ สังกะสี 25 เปอร์เซ็นต์

  • เนื้อทองฝาบาตร

คือทองเหลืองที่ผ่านการปั๊ม

  • เนื้อขันลงหิน

เนื้อโลหะที่รู้จักกันมาแต่โบราณ และเป็นประเภทหนึ่งของโลหะผสมที่เรียกกันว่า “บรอนซ์” แต่โลหะผสมเนื้อขันลงหินจะเจาะจงเฉพาะโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุกเท่านั้น ส่วนบรอนซ์จะรวมถึงโลหะทุกประเภทที่ผสมกับทองแดง ยกเว้นสังกะสี ดังนั้นสีบรอนซ์จึงมีหลายสี เช่น บรอนซ์เงิน บรอนซ์ทอง บรอนซ์ออกสีนาก เป็นต้นเป็น โลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก โดยมากโลหะขันลงหินจะนิยมใช้ทำระฆัง เนื่องจากเวลาเคาะเสียงจะดังกังวาน ไพเราะเสนาะหู

  • เนื้อนวโลหะ

ตามสูตรโบราณ หมายถึงโลหะ 9 ชนิด  ที่หลอมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ประกอบด้วย

โลหะ 5 ชนิด เรียกว่า เบญจโลหะ ได้แก่ 

1.เหล็กละลายตัว
2.ปรอท
3.ทองแดง
4.เงิน
5.ทองคำ (ทองเป็นเกล็ดหรือทองเป็นก้อนซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ)

ถ้าเพิ่มอีก 2 ชนิด รวมเป็น 7 เรียกว่า สัตตโลหะ 

6. เจ้าน้ำเงิน (แร่ผสมชนิดหนึ่งมีพลวงเป็นส่วนผสมหลักสีเขียวเป็นสีน้ำเงิน)
7. สังกะสี

ถ้าเพิ่มอีก 2 ชนิด รวมเป็น 9 เรียกว่า นวโลหะ 

8.ชิน (โลหะผสมชนิดหนึ่งประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก)
9.ทองแดงบริสุทธิ์

  • เนื้อชิน

พระเนื้อชิน เป็นชื่อเรียกของพระเนื้อโลหะชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในสมัยโบราณ ด้วยการนำดีบุก กับตะกั่วมาผสมกัน  ในอดีตมีการสร้างพระเนื้อโลหะชนิดนี้บรรจุในกรุมากมาย เช่น กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก, กรุวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันหายากและราคาสูงมาก สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. เนื้อเงิน พระชนิดนี้เกิดจากการการผสมที่ดีบุกมีประมาณมากกว่าตะกั่ว ทำให้องค์พระมีสีเงินสว่างงดงาม
  2. เนื้อสนิมแดง พระเครื่องเนื้อโลหะชนิดนี้ หนักไปทางตะกั่วมากกกว่าดีบุก ถึงแม้ว่าหน้าตาจะคล้ายๆ กัน แต่ถ้าใช้กล้องส่องพระส่องดูจะเห็นสนิมที่จับอยู่ตามซอกพระอย่างชัดเจน
  3. เนื้อสนิมแดงตะกั่ว พระที่พบส่วนมากจะมีสนิมตะกั่วจับอยู่ในเนื้อพระเป็น “สีแดงลูกหว้า” ซึ่งพระเนื้อสนิมแดงตะกั่วนี้ ถือเป็นพระเครื่องประเภทเนื้อชิน ที่มีมวลสารหลักเป็นตะกั่วมากที่สุดถึง 90%

พระเนื้อชิน

  • เนื้ออัลปาก้า

จริงๆ ต้องอ่านออกเสียงว่า อัลปัคก้า (Alpacca) คือโลหะผสมระหว่างทองแดงกับนิกเกิลโดยยึดสัดส่วนเหมือนทองเหลืองคือ ทองแดง 75 เปอร์เซ็นต์ นิกเกิล 25 เปอร์เซ็นต์

อัลปาก้าเปลือย หรือ เนื้อช้อนส้อม คือ โลหะผสมระหว่างทองแดง 83 เปอร์เซ็นต์ กับนิกเกิล 17 เปอร์เซ็นต์ การลดสัดส่วนของนิกเกิลลงเหลือ 17 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้โลหะผสมอัลปาก้านิ่มขึ้น เป็นการรักษาแม่พิมพ์ให้ทนทาน ซึ่งอัลปาก้าเปลือยนี้จะมีสีออกเหลืองมากกว่าอัลปาก้าเพราะมีทองแดงผสมมากกว่า

เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ เนื้ออัลปาก้า ไม่ชุบ

  • บรอนซ์

เป็นชื่อดั้งเดิมของโลหะผสมระหว่างดีบุกกับทองแดง ปัจจุบันหมายถึงโลหะผสมระหว่างทองแดงกับโลหะอื่น โดยยกเว้นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี ซึ่งจะเป็นทองเหลืองไม่ใช่บรอนซ์

  • เมฆพัด

เป็นโลหะผสมที่เกิดจากการนำแร่โลหะต่างๆหลายชนิด อาทิเช่น เหล็ก ทองแดง ดีบุก ตะกั่ว เงิน ทองคำ เป็นต้น จะเป็นปริมาณเท่าใด หรือใช้กี่ประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สร้าง ระหว่างหุงแร่จะซัดด้วยกำมะถัน จนเกิดเป็นสีมันวาว ออกเหลือบสีน้ำเงิน

  • เมฆสิทธิ์

นับเป็นโลหะผสมที่มีความคล้ายคลึง และเป็นคู่แฝดกับเมฆพัด กรรมวิธีการสร้างก็คล้ายคลึงกัน ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าจะเรียกการสร้างโลหะผสม เมฆสิทธิ์ และเมฆพัดว่า “การเล่นแร่แปรธาตุ” นับเป็นโลหะที่เชื่อว่า มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว เพราะขณะที่ทำการหลอมรวมจะต้องบริกรรมพระคาถาต่างๆไปด้วย สำหรับโลหะผสม เมฆสิทธิ์ประกอบด้วยแร่ธาตุ 4 ชนิดคือ เงิน สังกะสี ทองแดง และปรอท

  •  สัมฤทธิ์ (สำริด)

เป็นโลหะผสมที่นิยมทำพระบูชา และรูปหล่อขนาดใหญ่ นับเป็นโลหะผสมยุคแรกๆ ที่มีการสร้างขึ้นมาแต่โบราณ บางคนเรียกว่า ทองสัมฤทธิ์ หรือทองบรอนซ์ ส่วนประกอบของโลหะผสมสัมฤทธิ์คือทองแดง ดีบุก เงิน และทองคำ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *