เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2567 สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล หรือ คุณหมอมามี ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับกรณีน้ำท่วม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยปางช้างแห่งหนึ่งได้รับผลกระทบ มีช้างจำนวนมากจมน้ำ ล้มไปแล้ว 2 เชือก และยังสูญหายอีกหลายเชือก ทำให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์จากชาวโซเชียลมากมาย ระบุข้อความว่า
เกริ่นก่อนว่า ปางช้างในส่วนแม่แตงมีกว่า 20 ปาง ที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน และได้รับผลกระทบกันทั้งหมด มีตั้งแต่ปางที่มีช้างหลัก 2-3 เชือกไปจนถึง 100 เชือก คละกันไป แต่ปางที่ได้รับความสนใจทั้งการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างมากล้น และความช่วยเหลือจากสื่อหลักกลับเป็นแค่ปางเดียว
มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำล่วงหน้าแล้ว ทำให้แต่ละปางมีการเตรียมการตั้งรับ ย้ายช้างขึ้นที่สูง ทำให้ไม่เกิดอันตราย ซึ่งข้อนี้ต้องยกให้พี่ควาญช้างและเจ้าของ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับช้าง ฝึกให้ช้างเข้าใจการจับบังคับ (เปรียบเทียบคล้ายกับฝึกให้น้องหมาเข้าใจการใช้สายจูง คำสั่งลุกนั่งนอน) สามารถขี่-จูงช้างไปได้อย่างปลอดภัยทั้งคนทั้งช้าง + เมื่อสามารถสื่อสารได้เข้าใจก็สามารถพาไปไหนก็ได้อย่างอิสระ ร่วมกับการใช้โซ่ลามไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถปรับความยาวสั้นของโซ่ได้ ไม่ต้องพึ่งกรงหรือคอก
เมื่อเกิดวิกฤตชาวช้าง ทุกคนช่วยเหลือกันดีมาก ๆ ทั้งพี่ควาญช้าง พี่เจ้าของช้าง หมอช้าง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอยากจะช่วยช้างทุกเชือกให้ออกมาอย่างปลอดภัย แต่ต้องบอกว่าการเข้าช่วยเหลือช้างแต่ละตัวที่ประสบภัยอยู่มีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยทั้งต่อคนที่เข้าไปช่วย และช้างที่รอความช่วยเหลือ ยกตัวอย่างข้อจำกัด
ช้างที่เติบโตมากับแนวคิดที่ว่า ห้ามใช้อุปกรณ์อะไรจับ แตะ สัมผัส ออกคำสั่ง ทำให้เมื่อเห็นเชือก ขอ โซ่ ก็ตั้งป้อมใส่คนที่เข้ามาแล้วว่าจะอันตราย ก็ตั้งท่าเตรียมสู้กลับ (ซึ่งถ้าช้างเอาจริงก็คือเจ็บหนักกันแน่ ๆ)
ควาญช้างที่ได้รับมอบหมายให้จัดหญ้า และทำความสะอาดคอกช้าง โดยไม่สามารถขี่ฝึกฝนให้ช้างเคยชินกับน้ำเสียง และคำสั่งพื้นฐานได้เลย ไม่สามารถควบคุมให้ช้างเดินตาม หรือพาไปผูกมัดยังที่ปลอดภัยได้
แต่ถึงอย่างนั้นพี่ ๆ ควาญช้างที่มีความชำนาญในการควบคุมช้าง ก็ระดมคนกันเข้าไปช่วยช้างเหล่านั้นที่ติดอยู่ในคอก (เพราะเกินกำลังที่คนในปางเองจะสามารถช่วยกันพาออกมาได้ ด้วยข้อจำกัดข้างต้น…) และการเข้าหาช้างในจุดที่น้ำท่วมสูง หากเกิดอันตรายตัวคนที่ช่วยเองถ้าหลบไม่ทันก็มีโอกาสบาดเจ็บหนักจากช้าง ยังไม่รวมกับการต้องฝ่าน้ำที่สูงและเชี่ยวเข้าไป
แม้ว่าปัญหาอุทกภัยจะไม่ได้มีต้นเหตุมาจากวิถีการเลี้ยงช้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า วิถีการเลี้ยงช้างดั้งเดิมของคนไทยทำให้เกิด bonding ระหว่างคนและช้าง จนสามารถอพยพช้างส่วนใหญ่ให้พ้นภัยได้เกือบทั้งหมด แต่กลับกันการเลี้ยงช้างอีกวิถีทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายขึ้น
ซึ่งถ้าวิถีการเลี้ยงช้างไม่สุดโต่งมากขนาดนี้ คนที่มีแนวคิดนี้ ไม่ไปว่าการเลี้ยงช้างดั้งเดิมจนเสีย ๆ หาย ๆ ลามไปถึงต่างประเทศแอนตี้การเลี้ยงช้างดั้งเดิม จนเลือกแบนและไม่เที่ยว มันก็น่าจะเป็นภาพที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างดี
การออกมาพูดในเรื่องนี้ อยากให้ทุกคนที่เสพข่าวได้มองหลาย ๆ ด้าน ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือให้เกิดการพูดคุยกันก็ดีกว่ารอจนทุกอย่างคลี่คลายแล้วทุกคนก็แยกย้าย…จบ
ทุก ๆ คนก็รักช้างกันทั้งนั้น ถ้าเราช่วยกันตั้งแต่ยามสงบสุขก็อาจจะไม่มาถึงยามทุกข์แบบนี้ก็ได้
ส่งกำลังใจต่อเนื่องให้ทีมหน้างานทุกท่านนะคะ
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Mamee Kittisirikul