หอการค้าจันทบุรี แจงดราม่า กางเกงกระต่ายกับทุเรียน ราคาแพง ขอให้มองคุณภาพ ไม่ปิดกั้นคนไปต่อยอด ย้ำต้องเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด
วันที่ 20 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยนายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี แถลงเปิดตัวซอฟต์พาวเวอร์เป็นกางเกงประจำจังหวัด กางเกงจันท์ Chanthaburi Original “ลายกระต่ายกับทุเรียน” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 19 ก.พ.67 ที่ผ่านมา นั้น
ล่าสุดกลายเป็นดราม่าสนั่นโลกออนไลน์ เรื่องราคาจำหน่าย 990 บาท ทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมากว่าราคาแพงเกินไป อยากให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่ราคากลับไม่ซอฟต์ตาม
สอบถามนายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประธานหอการค้า จ.จันทบุรี ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางหอจันท์ มีการพูดคุยปรึกษากับหลายฝ่ายถึงการขับเคลื่อนแบรนด์จันทบุรีแท้ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ และเป็นออริจินัลจริงๆ ของจังหวัด ไม่เฉพาะเจาะจงเรื่องกางเกงเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลายของสินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการอื่นๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ และยังไม่เป็นแบรนด์แข็งแกร่ง เพื่อสร้างมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
นายอุกฤษฏ์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะกางเกงจันท์ Chanthaburi Original จึงถือโอกาสสร้างแบรนด์ของเมืองจันท์ โดยใช้กระต่าย สัตว์ประจำจังหวัด เป็นไอคอน และมีคาแรกเตอร์ต่างๆ ตามผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเรื่องคุณภาพ เป็นออริจินัลแท้ๆ จึงเป็นกางเกง ลายกระต่ายกับทุเรียน ซอฟต์พาวเวอร์กางเกงประจำจังหวัด
นายอุกฏษฏ์ กล่าวอีกว่า กางเกงมีคุณภาพด้วยวัสดุผ้าเรยอนญี่ปุ่น ลวดลายที่ถูกออกแบบ การเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก แก้ไขจุดบกพร่องขณะที่ใส่ และเพิ่มคุณภาพความทนทานของกางเกง ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการยกระดับกางเกงที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย
นายอุกฤษฏ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องราคา 990 บาท ที่หลายคนมองว่าแพงเกินไป ไม่สามารถจับต้องได้ ในเรื่องนี้อยากให้มองเรื่องคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก ไม่อยากให้ผู้บริโภคใส่กางเกงที่ดัง แต่อยากให้ใส่กางเกงที่ดี มีคุณภาพมากกว่า
นายอุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายได้ของการขายกางเกง แน่นอนคนส่วนใหญ่มองว่า หอการค้าเป็นเอกชน ผลิตกางเกงขายแล้วรายได้เข้ากระเป๋า แต่ความจริงแล้วหอการค้า คือ หน่วยงานทางสังคมของภาคเอกชน ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่หอการค้าจัดขึ้น ล้วนแต่มีปลายทางไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือส่วนบุคคล
นายอุกฤษฏ์ กล่าวต่อว่า โดยรายได้จะเป็นเรื่องของการสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมถึงภาคเศรษฐกิจในจังหวัด หลังจากนี้ทุกคนสามารถทำกางเกงสวมใส่หรือจำหน่ายเองได้ ตนเห็นด้วย และอยากให้คนทั่วไปได้มีโอกาสสร้างรายได้จากการต่อยอดครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกางเกง หรือเป็นเสื้อ แต่ขอให้เป็นอัตลักษณ์ของดีของจังหวัด ถือว่าใช้ได้หมด
นายอุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า หลังจากการเปิดตัวกางเกงจันท์ Chanthaburi Original ไปเมื่อวานนี้ ล่าสุด มียอดสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์จากทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 ตัว และมีกำหนดส่งเป็นแพ็กเกจถึงหน้าบ้านลูกค้าในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้ ในราคา 990 บาท